วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ชีวิตดีกับการเลี้ยงลูก/หนุมิ้งข่าวผู้เยาว์ นำมาฝากค่ะ



เลี้ยงลูกถูกวิธี วัยแรกเริ่ม วัยหลักของชีวิต
1. รู้จักลูกวัยแรกเริ่ม
ระยะตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ถึงอายุ 5 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุด ของการสร้างรากฐาน ชีวิตจิตใจของมนุษย์ เพราะร่างกายเติบโตเร็ว โดยเฉพาะสมอง เจริญเติบโตสูงสุด ในช่วงนี้เท่านั้น เด็กมีความรู้สึก รับรู้สัมผัสทั้งรูป รส กลิ่น เสียง กายสัมผัส และยังเลียนแบบอย่าง ตั้งแต่แรกเกิด เด็กเล็กๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ การเลี้ยงดู และภาวะแวดล้อม ได้เร็ว และฝังลึกในจิตใจ การเลี้ยงดูเด็กวัยนี้ จึงส่งผล ทั้งที่เป็นคุณและโทษ แก่ชีวิตได้ ในระยะยาว

เด็กในวัยแรกเริ่มนี้ จะมีชีวิตรอด และเติบโตได้ ก็ด้วยการพึ่งพาพ่อแม่ และผู้ใหญ่ ที่ช่วยเลี้ยงดู และปกป้องจากอันตราย หากผู้ใหญ่ ให้ความรักเอาใจใส่ ใกล้ชิด อบรมเลี้ยงดู โดยเข้าใจลูก พร้อมจะตอบสนอง ความต้องการพื้นฐานของลูก ที่เปลี่ยนตามวัย ได้อย่างเหมาะสม ให้สมดุลกัน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา และสังคมแล้ว ลูกก็จะเติบโต แข็งแรง แจ่มใส มีความมั่นคงทางใจ รู้ภาษา ใฝ่รู้และใฝ่ดี พร้อมที่จะพัฒนาตนเอง ในขั้นต่อไป ให้เป็นคนเก่ง คนดี อยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข และมีประโยชน์

2. เตรียมตัวเป็นพ่อแม่ที่ดี สำหรับลูกวัยแรกเริ่ม
2.1 เตรียมพร้อมก่อนมีลูก
2.1.1 มีความพร้อมทั้งกาย ใจ และสังคม
"พร้อม" ในที่นี้หมายความว่า ผู้ที่จะเป็นพ่อแม่ จะต้องพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม

ความพร้อมทางร่างกาย ก็คือ จะต้องมีอายุ ไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งกายและใจ ไม่เป็นโรค ที่ถ่ายทอดไปถึงลูก โดยช่วงอายุที่เหมาะสม ของฝ่ายหญิง ที่จะตั้งครรภ์ คือ 20 - 35 ปี ส่วนการวางแผน สำหรับการมีลูก คนต่อไปนั้น ควรจะห่างกัน อย่างน้อย 2 ปี เพื่อสุขภาพของทั้งแม่ และลูก พ่อแม่จะได้มีเวลา เลี้ยงดูลูกแต่ละคน อย่างเต็มที่

ส่วนความพร้อมทางจิตใจนั้น หมายถึง ความต้องการมีลูกจริงๆ และตั้งใจจะเลี้ยงดูเขา ด้วยความรัก เอาใจใส่ อดทน และเสียสละ มีความรู้เกี่ยวกับ การเลี้ยงดูเด็ก พอสมควร เพื่อที่จะเข้าใจ ธรรมชาติของเด็ก สามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานได้ และไม่เครียดกับการเลี้ยงลูก จนเกินไป

ความพร้อมทางสังคม หมายถึง ควรจะอยู่ในสถานภาพ มีเวลาและมีรายได้พอเพียง ที่จะดูแลรับผิดชอบชีวิตหนึ่ง ที่เพิ่มขึ้นมาในครอบครัว

2.1.2 ตรวจร่างกายและตรวจเลือด
การตรวจนี้ จะทำให้รู้ว่า ทั้งคู่หรือคนใดคนหนึ่ง มีโรคถ่ายทอด ทางพันธุกรรม หรือโรคติดเชื้อ ที่จะส่งผล มาถึงลูกหรือไม่ เพื่อจะได้ป้องกันเสียก่อน เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย และโรคติดเชื้อ ทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส ตับอักเสบบี และเอดส์

เพื่อป้องกันไม่ให้ลูก มีความพิการแต่กำเนิด จากโรคหัดเยอรมัน ถ้าฝ่ายหญิง ไม่เคยเป็นหัดเยอรมัน หรือไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ก็ควรไปรับวัคซีนป้องกัน หัดเยอรมัน ก่อนการตั้งครรภ์ อย่างน้อย 3 เดือน

2.1.3 จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
ควรจดทะเบียนสมรส ก่อนที่จะมีลูก เพราะหากพ่อแม่ ไม่จดทะเบียนสมรส ลูกที่เกิดมาจะเป็นเพียง "บุครโดยชอบด้วยกฎหมาย ของมารดา" แต่เป็น "บุตรนอกกฎหมายของบิดา" ซึ่งจะทำให้มีปัญหายุ่งยาก ทางกฎหมายตามมา ในเวลาข้างหน้า รวมทั้งอาจทำให้เกิด ปัญหาสังคมได้อีกด้วย

2.2 ดูแลในระยะตั้งครรภ์และให้นมลูก
การดูแลที่ดีตั้งแต่ตั้งครรภ์ เป็นหน้าที่ของทั้งพ่อและแม่ ที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อความรู้สึกที่ดี และสัมพันธภาพ ระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ที่จะเริ่มต้น ตั้งแต่บัดนั้น

2.2.1 ฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ
พ่อควรจะรีบพาแม่ ไปฝากครรภ์ ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ และพาไปรับการตรวจ ตามกำหนดนัดจากแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพราะจะได้รับการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่แรก ถ้ามีอาการที่อาจจะเป็นปัญหา เป็นอันตราย หรือที่เรียกว่า "ภาวะเสี่ยง" จะได้ระวังป้องกัน และให้ความช่วยเหลือ ได้ทันท่วงที ในกรณีที่พบ ความผิดปกติ ซึ่งจะเป็นการลดอันตราย จากการตั้งครรภ์ และการคลอดได้

การไปตรวจสุขภาพ ของแม่ตั้งครรภ์นั้น จะได้รับบริการ ดังนี้
* ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต
* ตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจฟัน และตรวจเต้านม
* ตรวจครรภ์ เพื่อดูการเจริญเติบโตของเด็ก
* ตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาโรคเบาหวานและโรคไต
* ตรวจเลือด เพื่อหาภาวะโลหิตจาง และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
* ตรวจสอบภาวะเสี่ยงอันตราย และอาการผิดปกติต่างๆ เพื่อการดูแลรักษา ตั้งแต่แรก
* รับวัคซีน ป้องกันโรคบาดทะยัก 2 ครั้ง
* รับยาเม็ด เสริมธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามิน
* รับยาไอโอดีน เฉพาะในบางพื้นที่ ที่ขาดธาตุไอโอดีน เช่น ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางแห่ง

2.2.2 กินอาหารครบคุณค่า
เพราะแม่มีลูกอยู่ในครรภ์อีกทั้งคน จึงต้องการอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อสุขภาพของแม่เอง และเพื่อการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ รวมทั้งเพื่อเตรียมสร้างน้ำนม ให้เพียงพอ สำหรับการเลี้ยงดูลูกด้วย การกินอาหารให้ครบถ้วนนั้น จะต้องกินให้ครบ 5 หมู่ และน้ำหนักตัวของแม่ ควรจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 10-12.5 กิโลกรัม ตลอดระยะการตั้งครรภ์

2.2.3 อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ และให้นมลูก
อาหาร ปริมาณอาหารต่อหนึ่งวัน
หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมลูก
นม 2-3 แก้ว 2-3 แก้ว
ไข่ 1 ฟอง 1 ฟอง
เนื้อสัตว์ ปลา หรือ
ถั่วเมล็ดแห้ง 10 ช้อนโต๊ะ 12 ช้อนโต๊ะ
ข้าวสวย 5 ถ้วย 5-6 ถ้วย
ผัก 1 1/2-2 ถ้วย 1 1/2-2 ถ้วย
ผลไม้ มื้อละ 1-2 ผล หรือ
1-2 ชิ้นของผลใหญ่ มื้อละ 1-2 ผล หรือ
1-2 ชิ้นของผลใหญ่
ไขมัน/น้ำมันพืช 4 ช้อนชา 5 ช้อนชา
*1 ถ้วยคือ 16 ช้อนโต๊ะ

2.3 ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย
2.3.1 คลอดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ในการคลอดแต่ละครั้ง แม่อาจจะมีความเสี่ยงต่ออันตรายบ้าง ไม่มากก็น้อย จึงจำเป็นต้องให้แพทย์ พยาบาล ผดุงครรภ์ หรือหมอตำแย ที่ได้รับการอบรมแล้ว เป็นผู้ทำคลอดให้ อย่างถูกวิธี สะอาดและปลอดภัย พร้อมทั้งตรวจหา ความผิดปกติ และแก้ไขปัญหา ที่อาจเกิดขึ้น พ่อแม่ควรขอให้เจ้าหน้าที่ บันทึกวิธีการคลอด น้ำหนักแรกเกิดของลูก และสิ่งที่ตรวจพบ ลงในสมุดสุขภาพของลูก จะได้เป็นประวัติสุขภาพต่อไป

2.3.2 แม่-ลูกใกล้ชิดกันเร็วที่สุด
แม่ควรจะได้เห็นหน้าลูก และใกล้ชิดกัน ตั้งแต่ในครึ่งชั่วโมงแรก หลังคลอด เพื่อสร้างความผูกพัน และควรให้ลูกได้เริ่มดูดนมแม่ โดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการตุ้นน้ำนม ให้หลั่งออกมาตามปกติ และควรให้ลูกได้ดูดน้ำนมช่วงแรก ซึ่งเป็นหัวน้ำนม สีเหลืองค่อนข้างใสด้วย เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง และมีภูมิต้านทางโรค หลายชนิด

การได้รับสัมผัสโอบกอด จากแม่และดูดนมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรก และบ่อยๆ ต่อเนื่องกัน ตามที่เด็กต้องการ จะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก และสนองตอบความตื่นตัว ของระบบประสาทของเด็ก ซึ่งมีคุณค่ามากที่สุด

ส่วนพ่อ ก็ควรมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกเริ่ม โดยสนใจดูแลใกล้ชิด และให้กำลังใจแก่แม่ ช่วยดูแลให้แม่ ได้กินอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนเพียงพอ ช่วยแบ่งเบา ภาระอื่น ของแม่ เพื่อให้แม่ได้พักฟื้น และมีเวลาเลี้ยงลูก ได้อย่างเต็มที่

2.3.3 แจ้งเกิดลูกภายใน 15 วัน
เพราะเด็กทุกคน เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุด ของประเทศชาติ เด็กทุกคนมีสิทธิตามกฎหมาย ที่จะมีชื่อ นามสกุล และสัญชาติ พ่อแม่ จึงต้องไปแจ้งการเกิดของลูก ต่อนายทะเบียนท้องที่ ณ เขต หรืออำเภอที่เกิด หรือที่อื่นที่แจ้งได้ภายใน 15 วัน นับแต่ลูกเกิด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาลก็ตาม

3. เลี้ยงลูกให้เติบโตและปลอดภัย
3.1 อาหารการกิน
3.1.1 นมแม่ดีที่สุด
นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุด เพียงอย่างเดียว สำหรับทารกแรกเกิด จนถึงอายุ 3 เดือน เพราะมีสารอาหาร เหมาะสมครบถ้วน ย่อยง่าย มีคุณสมบัติพิเศษ ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อ และสารกระตุ้นการเติบโต ของสมองและอวัยวะอื่นๆ ซึ่งไม่มีอยู่ในนม ชนิดอื่นใด การเลี้ยงลูก ด้วยนมแม่ เพิ่มความผูกพันใกล้ชิด ระหว่างแม่กับลูก และช่วยประหยัดได้ด้วย

แม่ที่เลี้ยงลูก ด้วยนมแม่ ควรกินอาหารที่มีคุณค่า ครบถ้วนเพียงพอทุกวัน เพื่อสร้างน้ำนมให้ลูก

เพราะนมแม่มีประโยชน์ต่อลูกมาก ถึงลูกจะได้รับอาหารอื่น เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ควรให้ลูกกินนมแม่ต่อไป เท่าที่จะทำได้ หรือถึง 18 เดือน

การให้นม แม่ควรจะอุ้ม มองหน้าสบตา คุยด้วย หลังให้นม ควรอุ้มยกตัวเด็กขึ้นสักครู่ เพื่อให้เรอ จะช่วยให้ท้องไม่อืด และไม่แหวะนมง่าย

3.1.2 เมื่อไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ถ้ามีเหตุจำเป็น ที่ทำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้ แม้จะได้ปรึกษาหมอ และพยาบาลแล้ว อย่ากังวลหรือเสียใจ จนเกินไป ควรให้นมผสม ที่เหมาะสมแก่ลูก โดยเลือกประเภท นมผงดัดแปลง สำหรับทารก ตามอายุ เช่น อายุก่อน 6 เดือน และนมผงดัดแปลง สูตรต่อเนื่อง สำหรับอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี เป็นต้น ซึ่งต้องผสมนม ให้ถูกส่วน ตามฉลาก และต้องรักษาความสะอาด อย่างเคร่งครัด โดยต้มจุกและขวดนม ในน้ำสะอาด จนเดือด นาน 10 นาที หรือนึ่งนาน 25 นาที ก่อนใช้ทุกครั้ง เวลาให้นมลูก ควรอุ้มขึ้นมาแนบตัว เหมือนท่าทาง การให้นมแม่ เพื่อความอบอุ่น เพิ่มความใกล้ชิดผูกพันกัน ไม่ควรปล่อยขวดนมคาปาก ให้ลูกดูดโดยลำพัง เพราะลูกอาจสำลักได้ และไม่ควรให้ลูกดูดขวดนม จนหลับคาขวด เพราะจะทำให้ติดนิสัย เป็นสาเหตุให้ฟันผุได้ เมื่อฟันขึ้น

ข้อควรระวัง ห้ามใช้นมข้นหวานเลี้ยงทารก และเด็กเล็กโดยเด็ดขาด

3.1.3 อาหารตามวัย
ในช่วง 3 เดือนแรก แม่ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว ตลอด 3 เดือน อย่าให้ข้าวหรือกล้วย แก่ลูกก่อนอายุ 3 เดือน เพราะใน 3 เดือนแรก กระเพาะของเด็ก ยังไม่พร้อม สำหรับการย่อยอาหารอื่น นอกจากนม

เมื่อลูกอายุ 4 เดือน ขึ้นไป ลูกจะต้องการอาหารมากขึ้น ทั้งปริมาณ และชนิดอาหาร เพื่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ที่เพิ่มขึ้น นอกจากจะให้ลูกดื่มนมแม่ ต่อไปเรื่อยๆ ให้นานที่สุดแล้ว พ่อแม่ควรเริ่มหัดให้ลูก ได้กินอาหารอื่น ที่เหมาะสมตามวัย ให้สอดคล้องกับความต้องการ และฝึกให้ลูก ได้พัฒนาการเคี้ยว การกลืน อีกด้วย การให้อาหาร ควรป้อนทีละน้อย ค่อยๆ เพิ่มชนิด และปริมาณ ระยะแรก บดให้ละเอีย ดและเหลว ต่อมา บดให้พยาบขึ้น เมื่ออายุ 7-8 เดือน เพื่อฝึกให้ลูก ใช้ฟันบดเคี้ยว พอลูกอายุ 1-2 ขวบ สอนให้ลูก หัดดื่มนมจากแก้ว หยิบ หรือตักอาหารกิน ด้วยตนเอง และให้กินอาหาร ร่วมสำรับกับครอบครัว

3.1.4 แนวทางการให้อาหารตามวัย มีดังนี้
อายุ 4 เดือน เริ่มให้ข้าวต้ม หรือข้าวสุก บดละเอียด ผสมน้ำแกงจืด และไข่แดงต้มสุก หนึ่งในสี่ฟอง ที่บดละเอียดแล้ว เริ่มป้อนให้ลูก วันละ 1-2 ช้อนโต๊ะ อาจสลับ หรือเพิ่มกล้วยน้ำว้าสุกบดหรือครูด มะละกอสุกครูดหรือบด 1-2 ช้อนโต๊ะ และค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น วันละเล็กวันละน้อย

อายุ 5-6 เดือน นอกจากไข่แดงต้มสุกแล้ว ควรเริ่มให้ลูกได้รับเนื้อปลา และเนื้อสัตว์อื่นๆ เช่น ไก่ หมู เนื้อวัว รวมทั้งตับสัตว์ ซึ่งสับหรือบดละเอียด ปรุงสุก คลุกเคล้ากับข้าวบด โดยไม่ต้องปรุงแต่งรส ควรเพิ่มผักบางชนิด ทั้งผักใบเขียว หรือผักสีเหลือง เช่น ผักตำลึง ผักบุ้ง ผักกาดขาว ฟักทอง ถั่วต้ม ซึ่งปรุงสุก เปื่อยนิ่มและบดละเอียด

เมื่อลูกอายุ 6 เดือน ควรให้อาหารเหล่านี้ประมาณ 1/2 - 1 ถ้วย คือ 8 - 16 ช้อนโต๊ะ เป็นอาหารหลักแทนนมแม่ได้ 1 มื้อ

อายุ 7 เดือนขึ้นไป ถึง 1 ขวบปี ควรเพิ่มความหลากหลาย ของชนิดอาหาร ทั้งเนื้อสัตว์ ไข่ ตับ ปลา ถั่ว เต้าหู้ และผัก ให้มากขึ้น เพิ่มปริมาณ จนเป็นอาหารหลัก แทนนมได้ 2-3 มื้อ โดยมีสัดส่วน ข้าวหรืออาหารแป้ง 3-4 ส่วน ต่อเนื้อสัตว์ 1 ส่วน และผัก 2-3 ส่วน ก็จะได้คุณค่าทางอาหารพอเหมาะ สำหรับลูกวัยนี้ และค่อยๆ ฝึกให้เด็กหัดเคี้ยว และกลืนอาหาร โดยตัดเป็นชิ้นเล็ก ทำให้สุกอ่อนนุ่มและบด พอหยาบๆ

3.1.5 อาหารทารก ใน 1 วัน
อายุ อาหาร
แรกเกิด
ถึง 3 เดือน น้ำนมแม่ แต่เพียงอย่างเดียว อย่าให้ข้าวหรือกล้วย
3 เดือน น้ำนมแม่ ข้าวบด 1 - 2 ช้อนคาว และน้ำแกงจืด สลับกับกล้วยน้ำว้าสุกงอมบด
4 เดือน น้ำนมแม่ กล้วยน้ำว้าสุกงอมบด 1 ผล ข้าวบด 1 - 2 ช้อนคาว กับไข่แดงต้มสุกครึ่งฟอง และน้ำแกงจืด
5 เดือน น้ำนมแม่ กล้วยน้ำว้า หรือผลไม้สุกบด 3 ช้อนคาว ข้าวบด 2 - 4 ช้อนคาว กับไข่แดงต้มสุก 1 ฟอง สลับกับ เนื้อปลาสุกบด และน้ำแกงจืด
6 เดือน น้ำนมแม่ ผลไม้สุกบด 3 ช้อนคาว ข้าวบด 4 - 6 ช้อนคาว กับไข่แดงต้มสุก 1 ฟอง สลับกับ เนื้อปลาสุกบด ใส่ผัก และน้ำแกงจืด
7 เดือน น้ำนมแม่ ผลไม้สุก ข้าวบด กับไข้ต้มสุก หรือเนื้อปลาสุกบด หรือเนื้อหมูสุกบด หรือตับบด ใส่ผักสุกบด และน้ำแกงจืด
8-10 เดือน น้ำนมแม่ กินข้าว 2 มื้อ ผลไม้สุก ข้าวบด กับไข้ต้มสุก หรือเนื้อปลาสุกบด หรือเนื้อไก่สุกบด ใส่ผักสุกบด และน้ำแกงจืด
10-12 เดือน น้ำนมแม่ กินข้าว 3 มื้อ ผลไม้สุก ข้าวหุงจนนุ่ม กับไข้ต้มสุก หรือเนื้อปลาสุก หรือเนื้อวัวสุกบด หรือเนื้อไก่ต้มสุก หรือตับ และน้ำแกง จืดใส่ผัก

3.1.6 อาหารสำหรับเด็กอายุ 1-5 ปี ใน 1 วัน
อาหาร ปริมาณอาหาร คำแนะนำเพิ่มเติม
นม 2 แก้ว นมสด หรือนมผสม นอกเหนือจากนมแม่ ซึ่งให้ต่อไปได้ ถึงขวบครึ่ง
ไข่ 1 ฟอง ไข่ไก่ หรือไข่เป็ด (สุกๆ เพราะย่อยง่าย)
เนื้อสัตว์(สุก) 3-4 ช้อนโต๊ะ กินอาหารทะเล และเครื่องในสัตว์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง**
ข้าวสวย 1-2 ถ้วย หุงแบบไม่เช็ดน้ำ หรือนึ่ง
ผัก 1/2-1 ถ้วย กินผักใบเขียว และผักอื่นๆ ด้วย ทุกมื้อ
ผลไม้ มื้อละ 1/2-1 ผล ผลไม้สดตามฤดูกาล หรือน้ำผลไม้คั้น
ไขมันหรือน้ำมัน 2 ช้อนชา ควรกินน้ำมันพืชมากกว่าน้ำมันสัตว์
1. ถ้าไม่ได้กิน นมหรือไข่ ควรกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น อีกอย่างน้อย 2-3 เท่า
2. อาหารสำหรับเด็ก ควรตัดให้เป็นชิ้นเล็ก สุก และเคี้ยวง่าย
3. 1 ถ้วย คือ 16 ช้อนโต๊ะ

3.2 เล่น ออกกำลังกาย และพักผ่อน
3.2.1 เล่นและออกกำลัง
พ่อแม่ควรจัดเวลา และสถานที่ เพื่อให้ลูกได้เคลื่อนไหว ออกกำลังกาย และเล่นได้ อย่างปลอดภัย ลูกควรมีเวลา คืบคลาน เกาะเดิน หรือวิ่งเล่น และได้ออกกำลังกาย ในที่โล่งกว้างและปลอดภัย เพราะการเล่นมีความสำคัญ สำหรับเด็กทุกคน ทุกวัย ลูกจะเรียนรู้ได้มาก จากการเล่น จะสนุกสนาน กับการค้นพบสิ่งใหม่ๆ จากการเล่น กับคนที่เขาเล่นด้วย ได้แสดงออก ได้เล่น เลียนแบบท่าทาง และเสียงอย่าง "จ๊ะเอ๋" จับปูดำ วิ่งไล่จับ กระโดดขาเดียว เล่นขายของ เล่นของเล่น หรือเล่นของใช้ในบ้าน ที่ไม่เป็นอันตราย ฯลฯ

พ่อแม่ควรเล่นกับลูก จัดหาของ และเครื่องเล่น ที่น่าสนใจ เหมาะสมกับวัย และความสามารถ ให้ลูกได้สนุก กับการเรียนรู้ ด้วยการเล่น อย่างปลอดภัย หากเห็นว่า ลูกแจ่มใส ร่าเริง มีความสุข และเพลิดเพลิน แสดงว่า การเล่น และออกกำลังกายของลูก อยู่ในระดับพอดี ซึ่งจะเกิดผลดี ทำให้เด็ก คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อแข็งแรง ฝึกความคิดสร้างสรรค์ และเรียนรู้การแก้ไขปัญหา ได้ดี

3.2.2 ข้อควรระวัง
* ห้ามเล่น ไม้ขีดไฟ ของมีคม สารพิษ สัตว์มีพิษ และปลั๊กไฟ
* การเล่นโลดโผนรุนแรง
* การเลียนแบบที่ไม่ดี เช่น เล่นอาวุธ เล่นผิดเพศ
* สถานที่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ที่สูง ถนน ใกล้น้ำ
* ควรให้เด็กอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่
* ของเล่นที่มีพิษมีภัย เช่น สีสดใส อาจมีสารพิษหรือตะกั่ว บางชิ้นแตกหักง่าย อาจทำให้บาดเจ็บ หรือติดคอสำลักได้ เกมส์กด วิดีโอเกมส์ ตู้ม้าไฟฟ้า จะบั่นทอนสุขภาพ และชักนำให้เด็ก มีนิสัยติดการพนันด้วย

3.2.3 การพักผ่อนเป็นเรื่องสำคัญ
เด็กๆ ควรจะได้นอนหลับพักผ่อน อย่างเพียงพอ เพราะเด็กที่นอนหลับไม่พอ จะโตช้า และมีปัญหาด้านการเรียนรู้ และอารมณ์หงุดหวิดได้

หลังจากการเล่น และออกกำลังกายแล้ว ควรมีเวลาพักผ่อน อย่างเหมาะสม ในที่ที่สงบ และอากาศถ่ายเทได้ดี และต้องระวัง ไม่ให้ยุงกัดลูก

3.2.4 ช่วงเวลานอนหลับตามอายุ
อายุ เวลานอนหลับ
(ชั่วโมง/วัน) ลักษณะการนอน
แรกเกิด - 2 เดือน 16-18 หลับช่วงสั้นๆ หลายรอบ
1 ปีแรก 14-16 นอน 2-3 ช่วง ทั้งกลางวันและกลางคืน ต่อมา
เมื่ออายุ 10-12 เดือน กลางคืนนอนช่วงยาวขึ้น
จนตลอดคืน (20.00-06.00 น.)
1 - 2 ปี 12-14 กลางคืนนอนตลอด (20.00-06.00 น.)
กลางวัน 1 ช่วง ( 2 ชั่วโมง)
2 - 5 ปี 10-12 กลางคืนนอนตลอด (20.00-06.00 น.)
กลางวัน 1 ช่วง (1-2 ชั่วโมง)

3.2.5 ดูแลฟันน้ำนม
ฟันน้ำนมเริ่มขึ้น เมื่ออายุ 6-8 เดือน จนครบ 20 ปี เมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง จะเริ่มหลุด เมื่ออายุ 6 ปี เมื่อฟันแท้เริ่มขึ้น ฟันน้ำนมมีประโยชน์ ในการเคี้ยวอาหาร ช่วยให้ฟันแท้ ขึ้นถูกตำแหน่ง ไม่เก ช้อนกัน และช่วยให้เด็กพูดชัด
เมื่อฟันน้ำนม ถูกถอนก่อนกำหนด อาจทำให้การเจริญของกระดูกขากรรไกร หยุดชะงัก ผลตามมาคือ ฟันแท้ไม่มีที่ขึ้น เกิดฟันซ้อน ฟันเก ในภายหลัง

พ่อแม่ควรดูแลรักษา ฟันน้ำนมของลูก โดยให้กินน้ำหลังนมผสม หรือมื้ออาหาร ทำความสะอาดโดยใช้ผ้ าหรือสำลีชุบน้ำ เช็ดฟันหลังอาหาร ให้ลูกเล็กๆ ก่อนอายุ 2-3 ปี เมื่อลูกโตพอจะแปรงฟันได้เอง ควรสอนวิธีแปรงฟันที่ถูกต้อง และช่วยดูแลการแปรงฟัน ทุกครั้งหลังอาหาร หรืออย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง ลดการกินของหวาน ที่เหนียวติดฟัน และห้ามการนอนดูดขวดนม ควรให้เด็กกินอาหารตามวัย เพื่อพัฒนาการเคี้ยวการกลืน จะช่วยให้ฟัน เหงือก และขากรรไกร แข็งแรงด้วย

3.3 ติดตามการเติบโตและพัฒนาการ
3.3.1 หมั่นตรวจสอบน้ำหนักและส่วนสูง
ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 5 ปี ลูกจะเติบโต อย่างรวดเร็วมาก พ่อแม่ควรติดตาม ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ของลูกทุกๆ 3 เดือน จดลงในสมุดบันทึกสุขภาพ และจุดลงในกราฟมาตรฐานด้วย เมื่อพาลูกไปรับบริการ ตรวจสุขภาพ และรับวัคซีน ควรนำสมุดบันทึกสุขภาพของลูก ไปด้วยทุกครั้ง หากมีข้อสงสัย ควรถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ขอให้ช่วยบันทึกให้ และจุดลงในกราฟมาตรฐาน พร้อมทั้งแปลผล เพื่อดูว่าลูกมีการเจริญเติบโต ดีหรือไม่ หากมีปัญหา จะได้ปรึกษาหาทางแก้ไข ก่อนที่ร่างกายของลูก จะแคระแกร็น เลี้ยงไม่โต

3.3.2 มาตรฐานการเติบโตของเด็ก ตั้งแต่แรกเกิด - 6 ปี โดยเฉลี่ย
อายุ น้ำหนัก
(กิโลกรัม) ส่วนสูง
(เซนติเมตร)
แรกเกิด 3 50
3 เดือน
5.5 60
6 เดือน
7 67
1 ปี
9 75
1 ปีครึ่ง 10.5 80
2 ปี 12 85
3 ปี 14 92
4 ปี
16 100
5 ปี 18 108
6 ปี 20 115

หมายเหตุ เด็กปกติอาจจะมีการเติบโตแตกต่างจากค่าเฉลี่ยนี้ได้บ้างเล็กน้อย

3.3.3 ติตตามสังเกตพัฒนาการของลูก
พ่อแม่สามารถติดตามสังเกตพฤติกรรม พัฒนาการของลูกใน ด้านต่างๆ ได้แก่ ความสามารถ ด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้ตาและมือประสานกัน ทำสิ่งต่างๆ การสื่อภาษา อารมณ์ สังคมของลูกวัยต่างๆ เพื่อจะได้เข้าใจธรรมชาติ และความรู้สึกนึกคิดของลูก แต่ละคน แต่ละวัย พ่อแม่จะได้อบรมเลี้ยงดู และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เป็นการให้โอกาสลูก ได้เรียนรู้ เล่น และฝึกฝน ทำสิ่งต่างๆ ตลอดจนแสดงออกได้ ตามความสามารถ พร้อมที่จะพัฒนาขึ้นต่อๆ ไป เป็นการช่วยให้ลูก มีความคิดสร้างสรรค์ และเชื่อมั่นในตัวเองอีกด้วย หากถึงอายุที่ควรทำได้ แต่ลูกยังทำไม่ได้ พ่อแม่ควรให้โอกาส โดยฝึกให้ก่อน แต่ถ้าลูกไม่มีความก้าวหน้า ใน 1 เดือน ควรปรึกษาหมอ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พ่อแม่ควรบันทึก ความสามารถของลูก ตามตารางต่อไปนี้

3.3.4 พัฒนาการของเด็กตามวัย
ความสามารถตามวัย ทำได้ภายใน วิธีการส่งเสริมพัฒนาการของลูก
สบตา จ้องแม่ 1 เดือน -ให้กินนมแม่อย่างเดียว
- ยิ้มแย้ม มองสบตา เล่น พูดคุยกับลูก เอียงหน้าไปมา ช้าๆ ให้ลูกมองตาม
- อุ้มบ่อยๆ อุ้มพาดบ่าบ้าง
- ร้องเพลงเบาๆ ให้ลูกฟังบ้าง
คุยอ้อแอ้ ยิ้ม มองตาม
ชันคอในท่าคว่ำ 2 เดือน -เล่นกับลูกโดยแขวนของสีสด ที่เคลื่อนไหวได้ ห่างจากหน้าลูก ประมาณ 1 ศอก ให้ลูกมองตาม พูดคุย ทำเสียงต่างๆ และร้องเพลง
- ให้ลูกนอนคว่ำในที่นอน ที่ไม่นุ่มเกินไป
ชันคอได้ตรงเมื่ออุ้มนั่ง
ส่งเสียงโต้ตอบ 3 เดือน - อุ้มท่านั่ง พูดคุยทำเสียงโต้ตอบกับลูก
- ให้ลูกนอนเปลหรืออู่ที่ไม่มืดทึบ
ไขว่คว้า หัวเราะเสียงดัง ชูคอตั้งขึ้นในท่าคว่ำ 4 เดือน - จัดที่ที่ปลอดภัยให้ลูกหัดคว่ำ คืบ
- เล่นกับลูกโดยชูของเล่นให้ลูกไขว่คว้า ชมเชยให้กำลังใจเมื่อลูกทำได้
คืบ พลิกคว่ำ พลิกหงาย 5 เดือน - หาของเล่นสีสดๆ ชิ้นใหญ่ๆ ที่ปลอดภัย ให้หยิบจับ และคืบไปหา
- พ่อแม่ช่วยกัน พูดคุยโต้ตอบ ยิ้ม เล่นกับลูก พูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่กับลูก เช่น อาบน้ำ กินข้าว
คว้าของมือเดียว
หันหาเสียงเรียกชื่อ
ส่งเสียงต่างๆ โต้ตอบ 6 เดือน - เวลาพูดให้เรียกชื่อลูก
- เล่นโยกเยกกับลูก หาของให้จับ
นั่งทรงตัวได้เอง
เปลี่ยนสลับมือถึอของได้ 7 เดือน - อุ้มน้อยลง ให้ลูกได้คืบ และนั่งเล่นเอง โดยมีแม่คอยระวัง อยู่ข้างหลัง
- ให้เล่นสิ่งที่มีสีและขนาดต่างกัน เช่น ลักษณะผิวเรียบ หยาบ อ่อนแข็ง
- ให้หยิบจับสิ่งของเข้าออก จากถ้วยหรือกล่อง
มองตามของที่ตก
กลัวคนแปลกหน้า 8 เดือน - กลิ้งของเล่นให้ลูกมองตาม
- พูดและทำท่าทาง เล่นกับลูก เช่น จ๊ะเอ๋ จับปูดำ แมงมุม จ้ำจี้ ตบมือ
เข้าใจเสียงห้าม
เล่นจ๊ะเอ๋ ตบมือ
ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ
หยิบของชิ้นเล็ก 9 เดือน - หัดให้เกาะยืน เดิน ใช้นิ้วหยิบ จับของกินชิ้นเล็กเข้าปาก เช่น ข้าวสุก มะละกอหั่น ฟักทอง
ห้ามให้เมล็ดถั่ว กระดุมหรือสิ่งอื่น ที่อาจติดคอจะสำลักได้
เหนี่ยวตัว เกาะยืน เกาะเดิน
ส่งเสียงต่างๆ "หม่ำหม่ำ" "จ๋าจ๊ะ" 10 เดือน - จัดที่ให้ลูกคลาน และเกาะเดิน อย่างปลอดภัย
- เรียกลูกและชูของเล่น ให้ลูกสนใจเพื่อลุกขึ้นจับ
ตั้งไข่ พูดเป็นคำที่มีความหมาย
เช่น พ่อ แม่
เลียนเสียง ท่าทาง และเสียงพูด 1 ปี - ให้ลูกมีโอกาสเล่นสิ่งของ โดยอยู่ในสายตาผู้ใหญ่
- พูดชมเชย เมื่อลูกทำสิ่งต่างๆ ได้
- พูดคุย ชี้ และบอกส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- ให้รู้จักฟัน แปรงสีฟัน และการแปรงฟัน
เดินได้เอง
ชี้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตามคำบอก
ดื่มน้ำจากถ้วย 1 ปี 3 เดือน - พูดคุยโต้ตอบ ชี้ชวนให้ลูกสังเกตของ และคนรอบข้าง ให้หาของ ที่ซ่อนใต้ผ้า
- ชี้ให้ดูภาพ และเล่าเรื่องสั้นๆ ให้ลูกฟัง
- ให้ลูกหัด ตักอาหาร ดื่มน้ำและนม จากถ้วย ให้แต่งตัว โดยช่วยเหลือตามสมควร
- ให้ลูกคุ้นเคย กับการแปรงฟัน โดยแปรงฟันให้ ทุกครั้งที่อาบน้ำให้ลูก
เดินได้คล่อง รู้จักขอ และ ทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ 1 ปี 6 เดือน - ให้โอกาสลูก เดิน วิ่ง และหยิบจับสิ่งของ โดยระวังความปลอดภัย
- ร้องเพลง คุยกับลูก เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว เล่นเกมง่าย
- จัดหาและทำของเล่น ที่มีสีและรูปทรงต่างๆ
พูดแสดงความต้องการ
พูด 2-3 คำ ติดต่อกัน
เริ่มพูดโต้ตอบ
ขีดเขียนเป็นเส้นได้ 1 ปี 9 เดือน - เมื่อลูกพยายามทำสิ่งใด ควรสนใจ ชี้แนะ และให้กำลังใจ โดยให้ลูกคิด และทำเองบ้าง
- ฝึกลูกให้ช่วยตัวเอง เช่น ขับถ่ายให้เป็นที่ รู้จักล้างมือ ก่อนกินอาหาร และหลังขับถ่าย
- ให้ลูกมีส่วนร่วม ทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้าน
เรียกชื่อสิ่งต่างๆ
และคนที่คุ้นเคย
กินอาหารเอง 2 ปี - พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี อย่างสม่ำเสมอ และอบรมสั่งสอนลูก ด้วยเหตุผลง่ายๆ
- สอนลูกให้รู้จัก ทักทาย ขอบคุณ และขอโทษ ในเวลาที่เหมาะสม
ซักถาม "อะไร"
พูดคำคล้องจอง
ร้องเพลงสั้นๆ
เลียนแบบท่าทาง
หัดแปรงฟัน 2 ปี 6 เดือน - พาลูกเดินรอบบ้าน และบริเวณใกล้ๆ ชี้ชวนให้สังเกต สิ่งที่พบเห็น
- หมั่นพูดคุย ด้วยคำพูดที่ชัดเจน และตอบคำถาม ของลูก โดยไม่ดุ หรือแสดงความรำคาญ
- ชวนลูกแปรงฟัน เมื่อตื่นนอน และก่อนนอน ทุกวัน
บอกชื่อและเพศตนเองได้
รู้จักให้และรับ
รู้จักรอ 3 ปี - สนับสนุนให้พูด เล่าเรื่อง ร้องเพลง ขีดเขียน และทำท่าทางต่างๆ
- สังเกตท่าทาง ความรู้สึกของลูก และตอบสนอง โดยไม่ไปบังคับ หรือตามใจลูก จนเกินไป ควรค่อยๆ พูดและผ่อนปรน
- จัดหาของที่มีรูปร่าง และขนาดต่างๆ ให้ลูกเล่น หัดขีดเขียน หัดนับ แยกกลุ่ม และเล่นสมมติ
ซักถาม "ทำไม"
ล้างหน้า แปรงฟันเองได้
บอกขนาดใหญ่-เล็ก-ยาว-สั้น
รู้จักสี ถูกต้อง 4 สี
ไม่ปัสสาวะรดที่นอน
เล่นรวมกับคนอื่น
รอตามลำดับก่อนหลัง 3 ปี 6 เดือน - ตอบคำถามของลูก ให้หัดสังเกต
- เล่าเรื่องจากภาพ คุย ซักถามเรื่องที่เล่า
- ฝึกให้ลูกใส่เสื้อผ้า ติดและกลัด กระดุม รูดซิป สวมรองเท้า
ยืนทรงตัวขาเดียว
และเดินต่อเท้า เลือกของที่ต่างจากพวกได้
นับได้1-10
รู้จักค่าจำนวน 1-5
บอกสีได้ 4 สี 4 ปี - ให้ลูกหัดเดิน บนไม้กระดานแผ่นเดียว หัดยืนทรงตัวขาเดียว และกระโดดข้ามเชือกเดี้ยๆ
- เล่นทาย "อะไรเอ่ย" กับลูกบ่อยๆ ฝึกหัดนับสิ่งของ และหยิบของ ตามจำนวน 1-5 ชิ้น
- ฝึกให้สังเกต เปรียบเทียบ สิ่งที่แตกต่างกัน และจัดกลุ่ม สิ่งที่เหมือนกัน
- ดูแลให้ลูกหัด แปรงฟันให้สะอาด ทุกซี่ ทุกครั้ง
พบผู้ใหญ่รู้จักไหว้ ทำความเคารพ
รู้จักขอบคุณ
รู้จักเล่าเรื่องสั้นๆ
รู้ค่าจำนวน 1-10 5 ปี - ให้ขีดเขียน วาดรูป ระบายสี พับกระดาษ และปั้น
- ดูแลให้แปรงฟัน ให้สะอาด ก่อนนอน ทุกคืน
- อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ฝึกให้อ่าน และเขียน ตัวอักษร และตัวเลข
- พูดคุยกับลูก เกี่ยวกับบุคคล และประเพณี ในท้องถิ่น

3.4 รับบริการตรวจสุขภาพและวัคซีนป้องกันโรค
เด็กทุกคน ควรจะได้รับการตรวจสุขภาพ และรับวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันโรค ที่สถานพยาบาล เป็นระยะๆ ตามตารางในหน้าถัดไป

เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้น อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัยจากโรคติดต่อ และอุบัติเหตุ และยังช่วยให้พ่อแม ่สามารถอบรมเลี้ยงดูลูก ได้อย่างเหมาะสม

พ่อแม่ควรนำสมุดสุขภาพเด็ก มาด้วยทุกครั้ง เมื่อพาลูกไปรับการตรวจสุขภาพแล้ว พ่อแม่ควรจะได้รู้ว่า

1. ลูกเติบโตปกติหรือไม่ บันทึกลงในสมุดสุขภาพหรือยัง
2. ลูกมีความสามารถด้านต่างๆ สมวัยหรือไม่ ควรเลี้ยงดูอย่างไร ต่อจากนี้ ลูกจึงจะเก่งและดียิ่งขึ้น
3. นมและอาหาร ที่ให้ลูกกินอยู่ เหมาะดีหรือยัง ต่อไปต้องเพิ่ม หรือปรับวิธีการ ให้อาหารอย่างไร
4. ลูกได้รับวัคซีนอะไร บันทึกลงในสมุดสุขภาพ หรือยัง กลับไปแล้วจะมีอาการไข้ หรืออาการแทรกซ้อนหรือไม่
5. ลูกมีความผิดปกติ อย่างไรหรือไม่ ควรทำอย่างไรต่อไป
6. มีคำแนะนำเพิ่มเติมอะไร เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุ การดูแลฟัน การให้ฟลูออไรด์ และการอบรมเลี้ยงดู
7. คราวหน้า จะนัดให้มาอีกเมื่อไร

ตามปกติ เด็กควรได้รับการตรวจสุขภาพ เมื่อแรกเกิด อายุ 2, 4, 6, 9, และ 12 เดือน ทุก 6 เดือน จนถึงอายุ 3 ปี และทุกปี หลังจากนั้น

3.4.1 ตารางการรับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค
อายุ การรับวัคซีน
แรกเกิด ป้องกันวัณโรค ป้องกันโรคตับอักเสบบี ครั้งที่ 1
2 เดือน ป้องกันโปลิโอ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ครั้งที่ 1 ป้องกันตับอักเสบบี ครั้งที่ 2
4 เดือน ป้องกันโปลิโอ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ครั้งที่ 2
6 เดือน ป้องกันโปลิโอ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ครั้งที่ 3 ป้องกันตับอักเสบบี ครั้งที่ 3
9-12 เดือน ป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม (หรือให้เฉพาะโรคหัด ในกรณีรที่ไม่มีวัคซีนรวม)
1 1/2 ปี ป้องกันโปลิโอ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ครั้งที่ 4 ป้องกันไข้สมองอักเสบ แจแปนนิสบี
(ห่างกัน 1-2 สัปดาห์ เฉพาะในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม)
2 1/2 ปี ป้องกันไข้สมองอักเสบแจแปนนิสบี
4-6 ปี กระตุ้นโปลิโอ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ครั้งที่ 5 ป้องกันวัณโรค
(เฉพาะเด็กที่ไม่มีแผลเป็น ครั้งก่อน) ป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม
(กรณีที่ไม่เคยได้รับมาก่อน หรือเฉพาะหัดเยอรมัน ในกรณีที่เคยได้เฉพาะหัด)

เด็กที่เข้ารับบริการ ในศูนย์พัฒนาเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล อาจได้รับบริการตรวจสุขภาพที่นั่น พ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก ควรจะติดตาม และให้ครูช่วยเติม ในสมุดบันทึกสุขภาพ ประจำตัวเด็ก เพื่อที่จะได้รู้ว่า ลูกได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน อะไรบ้าง เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค อย่างครบชุด อาจจะป่วย พิการ หรือตาย จากโรคติดต่อ ที่ป้องกันได้

วัคซีนบางชนิด จำเป็นต้องให้จนครบชุด จึงจะมีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรค พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็ก จึงควรพาลูกไปตามนัดทุกครั้ง ถ้าหากไม่สามารถไปตามนัดได้ ควรพาลูกไปรับวัคซีน ในภายหลัง จนครบ

3.5 ดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วย
ทารกและเด็กเล็กๆ มีขนาดร่างกายเล็ก และมีความต้านทานโรค น้อยกว่าผู้ใหญ่ ทั้งยังไม่อาจจะบอก อาการผิดปกติของตัวเอง ได้อย่างชัดเจน ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็ก ต้องสังเกตท่าทางการกิน การขับถ่าย และอาการแสดงออก ที่ต่างไปจากเดิม เพื่อจะได้รู้สึกความผิดปกติ ตั้งแต่แรกเริ่ม

นอกจากนั้น พ่อแม่จำเป็นต้อง มีความรู้เบี้องต้น เกี่ยวกับการปฐมพยาบาล จะได้ดูแลลูก เมื่อเจ็บป่วยเองได้ เช่น อุจจาระร่วง ตัวร้อนเป็นไข้ เป็นหวัด ไอ และลมชัก

ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยเหล่านี้ หาได้จากโรงพยาบาล ศูนย์สาธารณสุข สถานีอนามัย หรือจากสื่อสุขศึกษา เช่น โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ต่างๆ

เมื่อสงสัยว่าลูกมีอาการผิดปกติ มีการเจริญเติบโต หรือมีความสามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมกับอายุ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อจะได้ตรวจให้รู้แน่ และรับการบำบัดฟื้นฟู อย่างถูกวิธีต่อไป ส่วนเด็กที่มีความพิการ หรือพัฒนาการล่าช้า ด้วยสาเหตุต่างๆ หากได้รับการตรวจพบแต่เนิ่นๆ จะมีทางบำบัดแก้ไข ให้มีความสามารถดีขึ้นได้ โดยเฉพาะภายในขวบปีแรกๆ ซึ่งสมองยังเจริญเติบโตอยู่ หากรอช้าเกินไปแล้ว ไปรับการรักษามักไม่ได้ผลดี เพราะการกระตุ้นบำบัดแก้ไข ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเล็ก ก่อนจะมีความพิการถาวร

3.5.1 การดูแลรักษาเมื่อลูกมีอาการเจ็บป่วย
ไข้ตัวร้อน วิธีดูแลรักษา
อุณหภูมิปกติของร่ายกาย คือ 37 องศา แต่เวลาเด็กออกกำลัง ตากแดดนานๆ หรือกินของร้อนๆ อาจมีอุณหภูมิสูงขึ้น ชั่วขณะ ไม่ถือว่า เป็นไข้ หากไม่แน่ใจ ควรให้เด็ก นั่งพักสักครู่ 10-15 นาที แล้ววัดดู ถ้าอุณหภูมิ เกิน 38 องศา จึงจะถือว่าเป็นไข้ จำเป็นต้องสังเกตหาสาเหตุ ว่าเกิดขึ้นจากอะไร อาจเป็นไข้หวัด หรือมีการอักเสบ ในร่างกายได้
1. การเช็ดตัวลดไข้ หลักของการเช็ดตัวคือ ระบายความร้อน ออกจากร่างกาย โดยอาศัยการดึงความร้อนของร่างกาย ผ่านทางเส้นเลือดผิวหนัง มาช่วยเป็นความร้อนแฝง ของการระเหย ซึ่งจะทำให้เกล็ดน้ำ ที่ติดตามผิวหนัง ระเหยออกไป
ดังนั้น จึงควรใช้ผ้าที่บิดหมาดๆ เช็ดตัวให้เส้นเลือดขยายตัว โดยเช็ดผิดหนัง บริเวณที่อุ่นจัด ให้มากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณที่เส้นเลือดใหญ่ผ่าน ควรวางผ้าชุบน้ำ บิดหมาดๆ ไว้เพื่อระบายความร้อน จากซอกคอ ซอกแขน ขาหนีบ และศีรษะ และเปลี่ยนไปซักน้ำทุก 2-3 นาที โดยใช้ผ้า 2-3 ผืน และใช้น้ำประปาธรรมดา หรือเจือน้ำอุ่น แต่ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง เพราะจะทำให้เด็กหนาวสะท้าน จนเส้นเลือดส่วนปลายหดตัว ความร้อนในตัวจะเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เด็กชักได้ บริเวณที่เช็ดตัวลดไข้ ควรจะมีอากาศถ่ายเทดีพอควร ไม่ควรปิดประตู หน้าต่างจนอับทึบ หรือเป็นที่โล่ง ซึ่งมีลมโกรกแรงมากเกินไป
2. ให้ยาแก้ไข้ ตามหมอสั่ง หรือฉลากยา ควรใช้พาราเซตามอล จะปลอดภัยกว่าแอสไพริน และไม่ควรใช้ยาแก้ไข้ จำพวกไดไพโรน โดยทั่วไป ยาแก้ไข้ จะออกฤทธิ์ใน 15 นาที หลังกินยา และมีฤทธิ์อยู่นาน ประมาณ 4 ชั่วโมง หากมีไข้อยู่อีก จึงควรให้ยาซ้ำ ใน 4-6 ชั่วโมง
3. ให้ดื่มน้ำ หรืออาหารเหลว เพิ่มขึ้น
4. ให้ใส่เสื้อผ้าพอสมควร ไม่หนาเกินไป และไม่ควรห่มผ้าหนาๆ เพราะจะทำให้ไข้สูงขึ้น
5. ถ้าเด็กเคยชักมาก่อน ควรให้ยากันชัก ตามที่หมอแนะนำด้วย

ถ้ามีอาการรุนแรง กว่าธรรมดา เช่น หมอสติ ซึม เป็นลม ชักแขนขาไม่มีแรง เดินไม่ได้ นั่งไม่ได้ ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก คอแข็ง (ก้มคอไม่ได้) ขากรรไกรแข็ง (อ้าปากไม่ได้) หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกมาก ปวดท้องมาก ถ่ายท้องรุนแรง มีเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด ไอเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ซีด เหลืองหรือบวม ควรพาไปหาหมอโดยเร็ว

ปวดหัว วิธีดูแลรักษา

- กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล
- ถ้าปวดรุนแรง หรือร่วมกับอาการอื่น เช่น หมดสติ เป็นลมชัก แขนขาไม่มีแรง อาเจียนมาก หรือคอแข็ง (ก้มคอไม่ได้) ควรพาไปหาหมอ โดยเร็ว
- ถ้าเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ควรไปหาหมอ เพื่อตรวจหาสาเหตุ

ปวดท้อง วิธีดูแลรักษา
- ถ้าท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ให้กินยาธาตุน้ำแดง หรือยาลดกรด
- ถ้าเป็นโรคกระเพาะ หรือปวดแสบตรงใต้ลิ้นปี่ เวลาหิวจัด หรืออิ่มจัด ให้กินยาลดกรด
- ถ้าปวดท้องรุนแรง หรือปวดนานเกิน 6 ชั่วโมง หรือปวดท้อง ร่วมกับถ่ายท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง หรือมีอาการหน้ามืด เป็นลม ใจสั่น หรือเอามือ แตะถูกบริเวณหน้าท้อง แล้วรู้สึกเจ็บ ควรไปหาหมอโดยเร็ว
- ถ้าปวดตรงบริเวณท้องน้อยด้านขวา และแตะถูก รู้สึกเจ็บ ควรสงสัยว่าเป็น ไส้ติ่งอักเสบ และควรไปหาหมอ โดยเร็ว
- ถ้าปวดท้องเรื้อรังเป็นๆ หายๆ หรือไม่แน่ใจ ควรไปหาหมอ
ท้องเดินหรืออุจจาระร่วง วิธีดูแลรักษา
หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้ง หรือมากกว่าใน 1 วัน หรือถ้าถ่ายเหลว มีมูก มีเลือดปน 1 ครั้ง ก็ถือว่าผิดปกติ ต้องรับการรักษา
อาการท้องเดินเฉียบพลัน วิธีดูแลรักษา
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย หรือสารจากเชื้อ ที่ทำให้อาหารบูดเสีย ถ้ามีไข้ตัวร้อน และถ่ายอุจจาระ มีมูกมีเลือดปน แสดงว่าอาจเป็นบิด หรือลำไส้อักเสบ ต้องพาไปรับการรักษา เด็กบางคน อาจมีอาการอาเจียน ร่วมด้วย ทำให้เด็กมีภาวะขาดน้ำ มากยิ่งขึ้น เพราะสูญเสีย ทั้งทางอาเจียน และอุจจาระเหลว ถ้ามีภาวะขาดน้ำ จะสังเกตเห็นว่า ปากแห้ง ตาลึกลง อ่อนเพลีย และปัสสาวะสีเข้ม มีปริมาณน้อย หรือห่างกว่าปกติ ถ้ารุนแรงมาก อาจถึงกับหมดสติ และตาย จากภาวะขาดน้ำได้
ท้องเดินเรื้อรัง วิธีดูแลรักษา
อาจเกิดจาก พยาธิตัวเล็ก ที่มองด้วยตาเปล่า ไม่เห็น มักมีอาการ ท้องอืด เลี้ยงไม่โต ถ่ายเหลว เป็นๆ หายๆ หรืออาจจะเกิด ต่อเนื่อง จากการมีอาการ ท้องเดินเฉียบพลัน ลำไส้สร้างน้ำย่อย น้อยลง ย่อยอาหาร ไม่ได้ดี จึงมีอาการท้องเดิน เป็นๆ หายๆ นานเป็นสัปดาห์ หรือเดือน ทำให้ร่างกายขาดอาหาร เลี้ยงไม่โต
- เมื่อลูกเกิดอาการท้องเดิน ให้สังเกตดูว่า ลูกตัวร้อนหรือไม่ ลักษณะอุจจาระ เป็นอย่างไร เช่น เป็นน้ำ มีมูกเลือดหรือไม่ ถ้ามีลักษณะเหล่านี้ ต้องพาลูกไปรับการรักษา
- ถ้าลูกถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหลายครั้ง และอาเจียนด้วย มีลักษณะซึม หรือถ่ายไม่หยุด รีบพาส่งไปรับการรักษา ที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาล
- ถ้าลูกพอจะกินน้ำได้ ให้ละลายน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะและเกลือแกงครึ่งช้อนชากับน้ำ 1 ขวดกลมใหญ่ประมาณ 1 ลิตร จะใช้น้ำเปล่าต้มสุก หรือน้ำต้มเปลือกต้นฝรั่ง น้ำชา หรือน้ำมะตูม ก็ได้ หากจะใช้น้ำข้าว ก็ไม่ต้องเติมน้ำตาล พ่อแม่อาจจะละลาย ผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ตามฉลาก ให้ลูกกิน เป็นการป้องกันการขาดน้ำ และช่วยให้ลูก ไม่อ่อนเพลียเกินไป ควรให้กินนมแม่ต่อไป ตามปกติ ให้อาหารอ่อน ย่อยง่าย และไม่มัน จนกว่าจะหาย หลังจากนั้น ควรค่อยเพิ่มอาหาร จนเป็นปกติ
- แยกทำความสะอาดเสื้อผ้า และสิ่งที่เปื้อนอุจจาระ โดยใช้ผงซักฟอก และยาฆ่าเชื้อ ถ้ามี อย่าเอาเสื้อผ้าที่เปื้อน ลงล้างในตุ่มน้ำ เพราะเป็นการแพร่เชื้อโรค ลงไปในน้ำ ที่คนอื่น อาจนำไปใช้ดื่มกินได้ ควรกำจัดอุจจาระ ลงส้วมหรือถัง และราดยาฆ่าเชื้อ
- ล้างมือ ก่อนหยิบจับอาหาร และกินยา รักษาความสะอาด ในการเตรียมอาหาร และน้ำดื่ม ทำอาหารให้สุก ปิดฝาชี หรือใส่ตู้
ไข้หวัดและปอดบวม วิธีดูแลรักษา
- ไข้หวัด อาการ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เบื่ออาหาร ปวดหัว ตัวร้อน ส่วนใหญ่ จะหายได้เอง
- ปอดบวม อาการ มีไข้สูง ไอ หายใจเร็ว ถ้าเป็นมาก จะหอบ จนชายโครงบุ๋ม เล็บมือ เล็บเท้า ริมฝีปาก ซีด หรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่าย หรือซึม
- กินอาหารตามปกติ
- ดื่มน้ำมากๆ
- พักผ่อน
- เช็ดตัว เมื่อมีไข้ กินยาพาราเซตามอล เมื่อมีไข้สูง
- ไอ ให้ป้ายลิ้น ด้วยน้ำผึ้งผสมมะนาว มะนาวผสมเกลือ กินยาขับเสมหะเด็ก
- อย่าซื้อยาแก้อักเสบ และยาลดน้ำมูก ให้ลูกกินเอง
- สังเกตอาการอันตราย สงสัยเป็นปอดบวม ไข้เกิน 3 วัน ซึม น้ำมูกสีเหลือง หรือเขียวข้นนานเกิน 5-7 วัน ให้พาไปหาหมอ
ไข้เลือดออก วิธีการรักษา
อาการ มีไข้สูง 4-6 วัน อาการคล้ายๆ ไข้หวัด ปวดศีรษะ อาจมีอาการชัก เวลาไข้ลด จะลดอย่างรวดเร็ว มีอาการซึม ถ้าช็อค มือเท้าจะเย็น ตัวซีด มีเหงื่อออกซึม มีอาการ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ปากซีดเขียว อาจเป็นผื่น ตามผิวหนัง คล้ายเป็นหัดได้ มีเลือดออก ใต้ผิวหนัง ซึ่งกดแล้ว ไม่จางไป ถ้าอาการมาก เด็กจะซึม จะอาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด เลือดออกในกระเพาะ ลำไส้และสมอง เมื่อถึงระยะนี้ เด็กมักจะเสียชีวิต - ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้
- ถ้าสงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก ต้องพาลูกไปหาหมอ
- ห้ามใช้ยาลดไข้ ที่มีแอสไพริน โดยเด็ดขาด ถ้าไข้สูง ให้ยาพาราเซตามอล 10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้ซ้ำได้ ถ้ายังมีไข้สูง 6 ชั่วโมงต่อมา
- ให้ลูกกินน้ำ และอาหารเหลว
- แจ้งเจ้าหน้าที่อนามัย หรือศูนย์สาธารณสุข เพื่อเตรียมการรักษาพยาบาล และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นพิเศษ ในระยะที่มีการระบาด ของโรคไข้เลือดออก

หูอักเสบและหูน้ำหนวก วิธีดูแลรักษา
อาการ ปวดหูมาก มีไข้ ในเด็กเล็กๆ จะร้องกวน ผิดปกติ อาจมีหนองไหลจากหู ถ้าเป็นมาก บริเวณหลังใบหู จะบวม และกดเจ็บ - ควรรักษาให้ถูกต้อง และได้ทันท่วงที โดยไปหาหมอ หรือเจ้าหน้าที่ สาธารณสุข โดยเร็ว มิฉะนั้น อาจกลายเป็น หูน้ำหนวก เรื้อรังหูหนวก บางราย โรคลุกลาม เข้าสู่สมอง มีอันตราย ถึงตายได้
- เช็ดรูหูให้แห้ง ทำตามคำแนะนำ ของหมอ กินยาให้ครบ และพาลูก ไปตรวจ ตามที่หมอนัด
- ถ้าบวมเจ็บ บริเวณหลังหู มีอาการซึม หรืออาเจียน ให้รีบพาไปหาหมอ
คออักเสบ วิธีดูแลรักษา
อาการ คอแดง เจ็บคอ มีไข้ มักอ่อนเพลีย กินอาหารได้น้อย อาจมีตุ่มใส หรือแผลเล็กๆ กระจายในช่องปาก มีฝ้าขาวหรือหนอง ที่ต่อมทอนซิล หรือคอหอย ต่อมน้ำเหลืองใต้คางโต

จำเป็นต้องพบหมอ หรือเจ้าหน้าที่ สาธารณสุข ถ้ามีอาการ อย่างใด อย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ไข้สูงเกิน 3 วัน
- ไม่กินอาหาร และน้ำ หรืออาเจียนมาก
- มีฝ้าขาว หรือหนอง ที่ต่อมทอนซิล หรือที่คอหอย
- ต่อมน้ำเหลืองใต้คางโต และกดเจ็บ
- ไอ เสียงก้อง เสียงแหบ หายใจดัง เร็ว หายใจไม่ออก หอบ
- ปวดหู มีน้ำหนองไหล
- เช็ดตัว เมื่อมีไข้สูง ถ้าไข้ไม่ลด ให้กินยา พาราเซตามอล ขนาดตามอายุ ทุก 4-6 ชั่วโมง
- ให้กินน้ำมากๆ และอาหารอ่อน
- กินยาให้ครบ ตามหมอสั่ง เพื่อป้องกัน อันตราย และโรคแทรกซ้อน
ผิวหนังผิดปกติ วิธีดูแลรักษา
- กลาก (ขึ้นเป็นดวงๆ เห็นขอบชัดเจน คัน และค่อยๆ ลามได้) ทาด้วยขี้ผึ้ง รักษากลากเกลื้อน ขององค์การเภสัชกรรม
- เกลื้อน (ขึ้นเป็นวงด่างขาว หรือรอยแต้มเล็ก ตามใบหน้า ซอกคอ หลัง ลำตัว ไม่ค่อยคัน) ดูแลรักษา เช่นเดียวกับกลาก
- หิด (เป็นตุ่มคัน ขึ้นตามง่ามมือ ง่ามเท้า ทั้ง 2 ข้าง มักเป็นหลายคน ในครอบครัวเดียวกัน) ทาด้วย ขึ้ผึ้งกำมะถัน หรือยาแก้หิด ขององค์การเภสัชกรรม
- พุพอง ผิวหนังอักเสบ ถ้าเป็นหนองเฟะ ให้แช่น้ำด่างทับทิม ก่อนทายา
- ผื่นคัน หรือผด หรือแพ้ ยุง แมลง ทาด้วยยา แก้ผดผื่นคัน ถ้าเป็นเรื้อรัง ควรไปหาหมอ
- ลมพิษ ทาด้วยยาแก้ผดผื่นคัน ถ้าไม่หาย ควรไปหาหมอ
- แผลถลอก ล้างแผล ด้วยน้ำสุกกับสบู่ ชะเอากรวดดิน หรือสิ่งสกปรก ออกให้หมด เช็ดรอบแผล ด้วยแอลกอฮอล์ ทาแผลด้วย ยาแดง หรือยาใส่แผลสด


3.6 อย่าประมาทกับอาการผิดปกติของลูก
พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูควรจะเข้าใจว่า การเจ็บไข้ได้ป่วยในเด็กนั้น อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะเอาใจใส่เลี้ยงดูอย่างดี และไม่ควรตื่นตกใจ จนเกินกว่าเหตุ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรประมาท ชะล่าใจจนเกินไป โดยเฉพาะในทารกและเด็กเล็ก ที่ยังบอกไม่ได้ว่ารู้สึกอย่างไร อธิบายอาการไม่ถูก พ่อแม่ จึงควรเอาใจใส่ ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด สังเกตพฤติกรรม และความผิดปกติ ที่อาจเกิดขึ้นได้

เมื่อพบว่าลูกมีอาการผิดปกติ อาจเจ็บป่วย ควรดูแลเบี้องต้น อย่างถูกวิธี พาไปหาหมอ และให้ความร่วมมือ ในการดูแลรักษา ควรให้ความอบอุ่น ปลอบประโลมเด็ก ไม่ให้หวาดกลัว ให้กินอาหาร น้ำ และยา ตามคำแนะนำ หากมีปัญหาที่สงสัยว่า อาจเป็นอันตรายเร่งด่วน ได้แก่ หายใจลำบาก ชัก ซึม กินไม่ถ่าย ถ่ายหรืออาเจียนมาก มีเลือดออก บาดเจ็บ หรือมีอุบัติภัยต่าง ควรรีบพาไปหาหมอ โดยด่วน

3.7 จัดสภาพบ้านและสิ่งแวดล้อมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี
สิ่งที่พ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก ต้องคำนึงถึง ได้แก่ พื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งจะต้องมีการระบายอากาศที่ดี แสงสว่างพอเหมาะ มีความสะอาด และถูกสุขลักษณะ คือ มีน้ำสะอาด สำหรับดื่ม และใช้สอย มีการกำจัดขยะ และสิ่งสกปรกต่างๆ อย่างเหมาะสม สภาพแวดล้อมปลอดภัย ไม่เป็นพิษ โดยเฉพาะจากสารตะกั่ว จากเสียงดังมากๆ จากอากาศเสีย ตลอดจนควันและฝุ่นละออง ที่มีมากเกินมาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดนี้ อาจจะเป็นเหตุให้ลูกเจ็บป่วย พิการหรือตายได้

นอกจากสิ่งแวดล้อมแล้ว พ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก ต้องปกป้องลูก ไม่ให้ได้รับความรุนแรง ปกป้องจากอาชญากรรม และจากสื่อมวลชน ที่เผยแพร่เรื่องความก้าวร้าว หรือการยั่วยุทางเพศ ด้วยอีกทางหนึ่ง

อุบัติเหตุ ทำให้ลูกบาดเจ็บ พิการหรือถึงตายได้ พ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก ต้องไม่ประมาท ต้องดูแลให้ลูกอยู่ในสายตาเสมอ เพราะเด็กวัยนี้ ยังควบคุมตัวเองได้ไม่ดี อยากรู้อยากเห็นและซุกชน พ่อแม่จะต้องระวังป้องกัน อุบัติเหตุ และสารพิษ ในบ้านอยู่อาศัย ดูแลจัดบ้าน ที่เป็นอาคารสูง ให้มีทางหนีไฟ ติดตั้งที่กั้นประตู และบันได ในรถ จะต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ใช้เก้าอี้เด็กในรถ ไม่อุ้มเด็กขณะขับรถ ไม่ให้เด็กจับพวงมาลัย ไม่ให้เด็กวัยนี้ ซ้อนมอเตอร์ไซค์ หรือจักรยาน ตลอดจนมีรั้ว รอบๆ บ่อ หรือสระน้ำ เป็นต้น

4. อบรมเลี้ยงดูให้ลูกเป็นคนดี มีคุณภาพ
4.1 ส่งเสริมพัฒนาการอย่างสมดุลครบทุกด้าน
พ่อแม่ช่วยส่งเสริมให้ลูก เป็นคนดี คนเก่งของครอบครัวและสังคมได้ โดย
- ดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด ด้วยความรักและความเข้าใจ ทำให้ลูกมีจิตใจดี
- ให้โอกาสลูกเรียนรู้ เล่น และฝึกทำสิ่งต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และเป็นมิตร ทำให้ลูกฉลาด คล่องแคล่ว และมีมานะอดทน
- ยิ้มแย้ม สัมผัสลูกอย่างอ่อนโยน สังเกตการแสดงออกของลูก รับฟังและพูดคุยโต้ตอบกับลูก สนใจที่ตอบคำถามและเล่าเรื่องต่างๆ ที่เหมาะสมกับเด็ก ทำให้ลูกรู้ภาษาเร็ว และมีกำลังใจใฝ่รู้
- ทำตัวเป็นแบบอย่าง ที่จะปลูกฝังลักษณะนิสัย และความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้ลูกรู้จักกาละเทศะ รู้ผิดรู้ชอบและคุ้นเคย กับสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ต่อชีวิต

4.1.1 เอาใจใส่ให้เวลา
พ่อแม่จำเป็นต้องให้เวลา และเอาใจใส่ลูกๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างกัน ความมั่นคงทางใจ มีความสำคัญมากต่อชีวิต และจิตใจของลูกๆ อาจจะเรียกได้ว่า เท่ากับอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม การดูแลรักษายามเจ็บไข้ และการปกป้องจากอันตรายต่างๆ

เด็กมองเห็น ได้ยิน รู้จักตอบสนองต่อรส กลิ่น และสัมผัสตั้งแต่แรกเกิด เรียนรู้ได้เร็วจากคนที่ใกล้ชิด จากประสบการณ์และการกระทำของตนเอง พ่อแม่จึงต้องให้เวลาอยู่ใกล้ชิด มองหน้าสบตายิ้มแย้ม สัมผัสอย่างอ่อนโยน พูดคุยโต้ตอบ เล่นด้วยกัน จัดสภาพแวดล้อมให้น่าสนใจและปลอดภัย ทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกโดยคำนึงถึง ความสนใจ และความสามารถของลูก

4.1.2 เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก
การอบรมเลี้ยงดูลูก ด้วยความรักความเมตตา ใช้เหตุผล อย่างเสมอต้นเสมอปลาย และพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีงาม จะช่วยให้ลูกมีจิตใจมั่นคง ไม่สับสน การฝึกให้ลูกเป็นคนรู้จักคิด มีน้ำใจ และคุณธรรม จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่มีคุณภาพในอนาคต ส่วนเด็กที่ถูกละเลยทอดทิ้ง หรือถูกทำโทษรุนแรง จะมีปัญหาสุขภาพจิต และมีความประพฤติต่อต้านสังคม กลายเป็นเด็กเกเร ก้าวร้าวได้

พ่อแม่สามารถจูงใจให้ลูก มีความใฝ่รู้ กล้าแสดงความคิดเห็น และความรู้สึกอย่าง เหมาะสม ตามกาลเทศะ โดยให้ความสนใจ ในสิ่งที่ลูกกำลังทำ ตอบคำถามของลูกได้ ฝึกให้ลูกได้ ฝึกให้ลูกหัด สังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว ให้โอกาสลูกที่จะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตน ซึ่งอาจจะแตกต่างกับความคิดของพ่อแม่ และให้ลูกได้มีโอกาสเรียนรู้ จากการลองถูกลองผิดบ้าง ในกรณีที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย

4.1.3 สังเกตพัฒนาการตามวัย
ตามปกติเด็กวัยนี้ พัฒนาความสามารถด้านต่างๆ รวดเร็วมาก พ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก จึงจำเป็นจะต้องติดตาม สังเกตพฤติกรรม และความรู้สึกนึกคิดของลูก ว่า เปลี่ยนแปลงไป ตามวัย เท่าที่ควรหรือไม่ โดยศึกษา และบันทึกลงสมุดบันทึกสุขภาพ ประจำตัวเด็ก ควรปรับเปลี่ยน วิธีการอบรมเลี้ยงดู ให้เหมาะสมกับวัย เพศ และความสามารถของลูก โดยไม่เคี่ยวเข็ญจนเกินไป หากสงสัยว่า ลูกมีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัย ควรให้โอกาสฝึกหัด อีกสัก 1 เดือน ถ้าไม่มีความก้าวหน้า ควรปรึกษา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข

หากพ่อแม่พบลักษณะที่สงสัย หรือมีปัญหา ในการเลี้ยงดู ควรบอกเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแพทย์ ลักษณะที่สงสัยว่าอาจผิดปกติ ได้แก่

4.1.4 การได้ยิน
ลูกไม่สะดุ้ง เวลามีเสียงดังใกล้ตัว อายุ 6 เดือน ไม่หันมองหา ตามเสียงเรียกชื่อ

4.1.5 การมองเห็น
เดือนแรกไม่มองหน้า
อายุ 3 เดือน ไม่มองตามสิ่งของ หรือหน้าคน ที่เคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้า
อายุ 6 เดือน ไม่คว้าของ
อายุ 9 เดือน ไม่หยิบของชิ้นเล็กๆ ที่อยู่ตรงหน้า

4.1.6 การเคลื่อนไหว
แขนขาขยับ ไม่เท่ากัน หรือเคลื่อนไหวน้อย
อายุ 3 เดือน ยังไม่ชันคอ
อายุ 5 เดือน ยังไม่คว่ำ
อายุ 9 เดือน ยังไม่นั่ง
อายุ 1 ขวบ ไม่เกาะยืน
อายุเกิน 2 ขวบ ยังล้มง่าย งุ่มง่าม หรือเก้ๆ กังๆ

4.1.7 การรู้จักและใช้ภาษา
อายุ 10 เดือน ยังไม่เลียนเสียงพูด
อายุ 1 ขวบ ยังไม่เลียนท่าทาง และยังพูดเป็นคำ ที่มีความหมายไม่ได้
อายุ 1 ขวบครึ่ง ยังไม่สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ ไม่พูดเป็นคำๆ
อายุ 3 ขวบ ยังไม่พูดโต้ตอบ เป็นประโยค

ปัญหาอื่นๆ เช่น การกิน การนอน การขับถ่าย อยู่ไม่สุข ซุกซนผิดปกติ แยกตัว ซึมเศร้า ก้าวร้าว

4.2 ให้การศึกษาเพื่อชีวิต
เด็กวัยนี้จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากพ่อแม่ และสมาชิกในครอบครัว เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กแรก เกิดถึงอายุ 3 ขวบ มักได้รับการดูแล อยู่ในบ้าน บางคนอาจได้รับการดูแล จากพี่เลี้ยง หรือผู้ดูแล ในสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน พ่อแม่จึงควรเลือก บริการเลี้ยงลูก ที่สะอาด ปลอดภัย และมีกิจกรรมการเล่น และเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ ด้านต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้ พ่อแม่ก็ยังจำเป็น จะต้องติดตาม เอาใจใส่ ดูแลลูก อย่างใกล้ชิดด้วย

เมื่อลูก มีอายุ 3-4 ขวบ ขึ้นไป พ่อแม่ควรพาไปเข้ากลุ่มเรียนรู้ จากครูและเพื่อน ในชั้นเด็กเล็ก หรือศูนย์พัฒนาเด็ก เพิ่มขึ้นจากการอบรม เลี้ยงดูที่บ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ก่อนที่จะเข้าเรียน ชั้นประถมศึกษา ดังนี้

- ด้านร่างกาย เน้นความคล่องแคล่ว ในการเคลื่อนไหว และการใช้มือกับตา ให้ทำงานไปด้วยกัน ประสานกัน ในการวาด ปั้น และขีดเขียน
- ด้านสติปัญญา เน้นการรับรู้ เรียนรู้ รู้จักแยกแยะ สิ่งต่างๆ ที่เหมือนกัน ต่างกัน รู้จักเชื่อมโยง สิ่งต่างๆ ที่เหมือนกัน ต่างกัน รู้จักแก้ปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ และสนใจใฝ่รู้
- ด้านการเข้าใจ และการใช้ภาษา รู้และอธิบายความหมายของคำ และเรื่องราว เล่าเรื่อง และจับใจความสำคัญได้
- ด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม มีความรู้สึกที่ดี ต่อตนเอง รู้จักแบ่งปัน และทำตามระเบียบ รู้จักการรับ และให้ความช่วยเหลือ รู้จักขอบคุณ และขอโทษ

ทั้งนี้ ต้องระวัง อย่าปล่อยปละ จนลูกขาดโอกาสเรียนรู้ แต่ก็ต้องระวัง อย่าเร่งบังคับ ให้ลูกท่องจำ อ่านเขียน จนเคร่งเครียด เกินไป หรือจัดให้เรียนพิเศษ วิชาต่างๆ จนลูกล้า จะเป็นผลเสีย ต่อการพัฒนาความรู้คิด และสร้างสรรค์ของลูก

หัดให้รักและอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมไทย และสภาพแวดล้อม

4.2.1 ฝึกภาษาให้ถูกต้อง
พ่อแม่สามารถฝึกภาษาให้ลูกได้ ตั้งแต่แรกเป็นทารก หรือยังเล็กๆ อยู่ โดยพูดคุยกับลูก ด้วยภาษาที่ฟังเข้าใจง่าย และชัดเจน ด้วยท่าทางที่เป็นมิตร โดยอาจจะใช้วิธี เล่านิทาน อ่านหนังสือ ชี้ให้ลูกดูภาพ หรือเล่าเรื่องเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น และฝึกให้ลูกได้ฟัง และหัดพูดภาษาไทย ได้เรียนรู้ภาษาไทย สำหรับสื่อความหมาย และติดต่อกับคนอื่นๆ ได้ในสังคม ทั้งยังเป็นการสืบทอดภาษา อันเป็นเอกลักษณ์ ประจำชาติไทยอีกด้วย

พ่อแม่และผู้ใหญ่เอง จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และส่งเสริมให้ลูก พูดเป็นประโยค อย่างถูกต้อง ใช้คำที่เหมาะสมในการ พูดจาโต้ตอบ อธิบายความรู้สึกนึกคิด ของตน หรือเล่าเหตุการณ์ต่างๆ และตอบคำถาม อย่างได้ใจความ การเริ่มสอนภาษาไทยนั้น ควรเริ่มจากให้ลูกเห็น และเล่นตัวอักษรไทย และตัวเลขไทย ตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ ขึ้นไป เริ่มฝึกให้รู้จัก ตัวอักษร อ่านและขีดเขียน ทีละเล็กน้อย ราวอายุ 4-5 ขวบ ขึ้นไป ตามความพร้อมของลูก

4.3 รู้จักและรักในคุณค่าวัฒนธรรมไทย
เด็กๆ จะซึมซับค่านิยม และวัฒนธรรมที่ดี จากการกระทำของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น มารยาททางสังคม เช่น การเคารพผู้ใหญ่ การไหว้ การกินอยู่ การรู้จักสำรวม และเกรงใจ หรือแม้กระทั่ง เรื่องระเบียบวินัยทางสังคม การรักและชื่นชมธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นเรื่องที่พ่อแม่ จะชี้ชวนให้ลูกสนใจ และปลูกฝัง ได้ไม่ยาก ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดี ให้เขาดูและสนับสนุน ให้ลูกได้คิด และได้ทำ อย่างเหมาะสม เริ่มจากเล่านิทาน ร้องเพลงกล่อมลูก เล่นดนตรี ประดิษฐ์ของเล่นด้วยกัน เล่นการละเล่นพื้นบ้าน พาลูกร่วมกิจกรรม ทางสังคม และประเพณี ตามความเหมาะสม เมื่อลูกสนใจแล้ว เขาจะกระตือรือร้น ที่จะทำเองและพัฒนา เป็นนิสัยที่ดีต่อไป

4.4 ปลูกฝังคุณธรรม ระเบียบวินัย และแนวทางประชาธิปไตย
4.4.1 สนใจ เข้าใจ ไม่บังคับ
ช่วงอายุ 1-3 ปี เป็นช่วงเวลาที่เด็ก ต้องการเป็นตัวของตัวเองมาก เขาจะอยากทำอะไร ด้วยตนเอง มักจะต่อต้านคำสั่ง หรือแสดงอารมณ์โกรธ เมื่อถูกขัดใจ เหล่านี้เป็นพัฒนาการปกติ ตามวัยของเขา หากพ่อแม่เข้าใจในข้อนี้ พยายามหลีกเลี่ยง การบังคับขู่เข็ญ หรือต่อล้อต่อเถียง ทำโทษรุนแรง แต่ใช้วิธีอบรมสั่งสอน ด้วยความเข้าใจ สนใจ ชมเชยเมื่อทำสิ่งที่ควร ช่วยเมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือ ตลอดจนให้โอกาสเข้าฝึกทำอะไรด้วยตนเองในขณะที่ผู้ใหญ่ยอมรับฟัง และแก้ไขความขัดแย้ง ด้วยโดยไม่ใช้เสียงดัง หรือกำลังบังคับ ลูกก็จะเรียนรู้ไ้ด้ ด้วยตัวเอง ในที่สุด

4.4.2 สอนให้มีคุณธรรม ด้วยการทำเป็นแบบอย่าง
การปลูกฝังการดำเนินชีวิต อย่างมีคุณธรรม ผู้ใหญ่จะต้องเป็นแบบอย่างให้เห็น เช่น
- จะปลูกฝัง การรักษาความจริง ผู้ใหญ่ต้องไม่หลอก หรือขู่เด็กเสียเอง
- จะฝึกการไม่เบียดเบียนกัน ผู้ใหญ่ก็ต้องแสดงความรัก ความเมตตาต่อคนอื่นๆ ด้วยการให้อภัย ไม่ทำร้ายผู้อื่น ทั้งด้วยคำพูด หรือการกระทำ
- ฝึกการรู้จักละอาย และควบคุมตัวเอง ต่อการทำความผิด สอนลูกไม่ให้ทำ ในสิ่งที่ไม่ควร
- ฝึกหัดความรู้จักพอ ใช้จ่ายแต่สมควร ไม่ตามใจลูก จนไม่มีเหตุผล
- ปลูกฝังและฝึกให้ลูก เป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารี โดยการช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน ในครอบครัว สนใจทุกข์สุข และแสดงความเอื้ออาทรต่อกัน ทั้งในยามสบาย และยามเจ็บป่วย
- ฝึกให้ลูกเรียนรู้ ความต้องการของคนอื่น ไม่เอาแต่ใจตนเอง รู้จักรอ และมีส่วนช่วยเหลือ คนในครอบครัว ตามกำลังความสามารถ

5. ฝึกหัดให้ลูกขยัน รักงาน เพื่อเตรียมเข้าสู่อาชีพ
พ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูก ได้ฝึกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง จนคล่องเช่น กินอาหาร แต่งตัว ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ตามกำลังของลูก ฯลฯ เพื่อลูกจะได้เกิดความภูมิใจ ในความสำเร็จของตนเอง เป็นคนมีกำลัง พร้อมจะลองทำสิ่งที่ยากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาส ที่จะประสบความสำเร็จ ในการเรียน และงานอาชีพในอนาคต

นอกจากนี้ ควรชี้ชวนให้ลูกสังเกต และรู้จักคนประกอบอาชีพสุจริตต่างๆ ไม่แสดงท่าทีดูถูก หรือเหยียดหยาม อาชีพที่ใช้แรงงาน หรือผู้มีฐานะต่ำกว่า

6. คุ้มครองสิทธิของลูก และปกป้องจากการถูกเอาเปรียบ หรือทำร้าย
พ่อแม่มีหน้าที่ ในการเลี้ยงดูลูก นับตั้งแต่แรก เกิดจนถึงอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ตั้งแต่จัดอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และพาไปรักษา เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ให้การศึกษา ตลอดจนอบรม ให้มีคุณธรรม จนเติบโตเป็นคนดีของสังคม และสิ่งหนึ่งที่เป็นกฎ ที่สังคมยอมรับ ก็คือ เด็กที่อายุยังไม่เกิน 7 ขวบ หากกระทำความผิด จะไม่ต้องรับโทษใดๆ ด้วยเด็กยังเล็ก เกินกว่าจะเข้าใจถูก-ผิด ของสังคม พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องรับผิดชอบแทน

ผู้ใหญ่มีหน้าที่ ที่จะต้องให้สิ่งที่ดีที่สุด แก่เด็ก เพราะเหตุนี้เอง เมื่อเราพูดถึงอะไรก็ตาม สิ่งแรกที่เราต้องนึกถึงก็คือ "เด็กๆ ต้องมาก่อน" เสมอ

ผู้ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้องของเด็กหรือไม่ ถ้ากระทำความผิดต่อเด็ก จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย เช่น
- การข่มขืนกระทำชำเรา อนาจารเด็ก อายุไม่เกิน 15 ปี
- ช่วยหรือยุยง ให้เด็กอายุไม่เกิน 16 ปี ฆ่าตัวเอง
- ทอดทิ้ง ไม่เลี้ยงดูเด็ก อายุไม่เกิน 9 ปี โดยเจตนา
- ลักพาตัวเด็ก ไปเรียกค่าไถ่ หรือหน่วงเหนี่ยว กักขัง
- พราก ซื้อ หรือจำหน่ายเด็ก อายุไม่เกิน 15 ปี ไปจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก
- กระทำทารุณต่อเด็ก อายุไม่เกิน 15 ปี
- ชักชวน แนะนำ ขาย ล่อลวงเด็ก ไปค้าประเวณี ฯลฯ

นอกจากนี้ กฎหมายยังระบุ ให้ความคุ้มครองแก่เด็ก เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่น ทำร้ายเด็ก ดังนี้
- ทอดทิ้งเด็กไว้ ในสถานพยาบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือบุคคล ที่รับจ้างเลี้ยงเด็ก
- โฆษณารับเด็ก หรือยกเด็ก ให้บุคคลอื่น
- ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนเด็ก ด้วยทรัพยฺ์สิน เงินทอง
- ใช้เด็กเป็นเครื่องมือ ในการขอทาน
- ขายให้หรือชักจูง ให้เด็กดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือสิ่งเสพติด
- ยอมให้เด็ก เล่นการพนัน
- ชักจูงหรือส่งเสริมให้เด็ก ประพฤติตนไม่สมควร

สิทธิของเด็ก ตามกฎหมาย "เด็กที่เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา หากบิดาไม่ปรากฎบุตรนอกสมรส ย่อมมีสิทธิ ใช้ชื่อสกุลของมารดา" และเด็กย่อมมีสิทธิ ที่จะมีสัญชาติไทย โดยการเกิด นอกจากนั้น เด็กทุกคน ย่อมมีสิทธิได้รับ การบริการขั้นพื้นฐาน ในสังคม เช่น บริการสุขภาพ บริการการศึกษา และสวัสดิการ ความปลอดภัย เป็นต้น

ภาคผนวก
ก. คำแนะนำการเลี้ยงดูลูกหลานตามวัย
แรกเกิด - 6 ปี
M0-3 ทารกแรกเกิด - อายุ 3 เดือน
M0-3 การให้นม
- ควรเลี้ยงทารก แรกเกิด ถึงอายุ 3 เดือน ด้วยนมแม่ เพียงอย่างเดียว เพราะนมแม่เป็นอาหารที่ดี และเหมาะสมที่สุด มีคุณค่าครบถ้วน ทางโภชนาการ ให้ภูมิต้านทานโรคติดเชื้อ ที่ไม่มีอยู่ในนมชนิดอื่น ลดความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ และเพิ่มความผูกพันใกล้ชิด ระหว่างแม่กับลูก รวมทั้งช่วยประหยัด ได้เป็นอย่างดี จึงควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้นานที่สุด เท่าที่จะทำได้
- หลังคลอด ควรให้ลูกดูดนมแม่ โดยเร็วที่สุด ซึ่งระยะแรก ควรให้บ่อยๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง 3-4 สัปดาห์ต่อมา ให้นมทุก 3-4 ชั่วโมง แต่ละครั้งใช้ เวลาประมาณ 5-15 นาที แม่จะรู้ได้ว่า มีน้ำนมแม่ให้ลูกเพียงพอ โดยสังเกตเห็นว่า ขณะที่ลูกดูดนมข้างหนึ่ง จะมีนม พุ่งออกจากหัวนม อีกข้างหนึ่ง เมื่อลูกกินอิ่มแล้ว จะหลับสบาย และเติบโตดี
- แม่ที่ทำงานนอกบ้าน ควรให้นมแม่อย่างเต็มที่ ในระยะพักหลังคลอด เมื่อกลับไปทำงาน ก็จะให้นมแม่ได้ ในเวลาเช้ากับกลางคืน และบีบนมเก็บ ใส่ขวดสะอาด ไว้ให้ลูก สำหรับช่วงกลางวัน หากจำเป็น ต้องใช้นมผงดัดแปลง สำหรับทารก (infant formula) จะต้องผสมให้ถูกส่วน ตามคำแนะนำ และดูแล เรื่องความสะอาด เพื่อป้องกันโรคท้องเสีย ด้วยการนึ่งหรือต้ม ขวดนมและจุก ในน้ำเดือดนาน 10 นาที ก่อนใช้ทุกครั้ง
- ห้ามใช้นมข้นหวาน หรือนมวัวธรรมดา เลี้ยงทารก ตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุ 1 ปี

M0-3 อาหารตามวัย
เมื่อทารกอายุครบ 3 เดือนแล้ว จึงเริ่มให้อาหารอื่น นอกจากนม เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย กับอาการ กึ่งแข็งกึ่งเหลว เริ่มให้ข้าวบด ใส่น้ำแกงจืด สลับกับกล้วยสุกครูด ครั้งละประมาณ 1-6 ช้อนชา วันละครั้ง แล้วให้ดูดนมตาม จนอิ่ม

M0-3 การเติบโตโดยประมาณ
ทารกแรกเกิด หนัก 3 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 50 เซนติเมตร
อายุ 1 เดือน หนัก 3.5 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 53 เซนติเมตร
อายุ 2 เดือน หนัก 4 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 56 เซนติเมตร
อายุ 3 เดือน หนัก 5 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 59 เซนติเมตร

M0-3 พัฒนาการ
การทรงตัว และเคลื่อนไหว แรกเกิด ผงกศีรษะ หันหน้าซ้ายขวาได้ ในท่านอนคว่ำ ต่อมา ชันคอได้ดีขึ้น จนยกศีรษะ สูงจากพื้น

M0-3 การใช้ตาและมือ
แรกเกิด เห็นชัดเฉพาะระยะห่าง 8-9 นิ้ว ต่อมา มองเห็นชัดในระยะไกลขึ้น และจ้องมองหันหน้าตามสิ่งต่างๆ ที่เคลื่อนไหวช้าๆ
แรกเกิด กำมือแน่น ต่อมามือกำหลวมๆ

M0-3 การสื่อความหมายและภาษา
หยุดฟังเสียง ฟังเสียงคุยด้วยแล้วหันหาเสียง ทำเสียงในคอ ร้องไห้

M0-3 อารมณ์และสังคม
มองจ้องหน้า สบตาทำหน้าตาเลียนแบบ อ้าปากแลบลิ้นได้ แสดงความสนใจคนที่เข้ามาใกล้ และยิ้มตอบได้ เมื่ออายุ 1-2 เดือน

M0-3 การตรวจสุขภาพและรับวัคซีน
พาไปรับการตรวจสุขภาพ รับคำแนะนำการเลี้ยงดู และรับคำแนะนำการเลี้ยงดู และรับวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นระยะ

แรกเกิด วัคซีนป้องกันวัณโรคและตับอักเสบบี
อายุ 1 เดือน วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี
อายุ 2 เดือน วัคซีนป้องกันโปลิโอ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (อาจมีไข้ได้)
อายุ 4 เดือน วัคซีนป้องกันโปลิโอ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (อาจมีไข้ได้)

M0-3 ข้อเสนอแนะ
1. พ่อแม่ควรได้อุ้ม และสัมผัสเด็ก แต่แรกเกิด
2. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุ 3-4 เดือน
3. ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดเสมอ เมื่อลูกร้อง ควรเข้ามาดูแลทันที
4. รักษาความสะอาด: อาบน้ำ สระผม เช็ดสะดือ
5. ส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก โดย
- ยิ้มแย้ม มองสบตา เอียงหน้าไปมาช้าๆ ให้ลูกมองตาม
- สัมผัสตัวลูก อย่างนุ่มนวล
- อุ้มพาดบ่า หลังกินนม อายุ 2 เดือนขึ้นไป ให้อุ้มท่านั่ง
- เล่นกับลูก ใช้ของเล่นที่ปราศจากสารพิษ ให้ลูกได้จับต้อง แขวนของสีสด ให้ลูกมองตาม
- พูดคุยอย่างอ่อนโยน ทำเสียงโต้ตอบกับเด็ก และร้องเพลงกล่อมลูก
- จัดให้ลูกนอนคว่ำ หรือตะแคงในที่นอน ที่ไม่นุ่มเกินไป หากให้นอนเปล หรืออู่ ควรดูให้ไม่มืดทึบ และควรมีเวลาเงียบสงบ ให้ลูกพักผ่อน อย่างเพียงพอ
6. การเว้นช่วงการมีลูกคนต่อไป ประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้แม่มีสุขภาพดี และลูกแต่ละคน ได้รับการเอาใจใส่ ดูแลอย่างเต็มที่ ขอคำปรึกษาได้ จากแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
7. ติดตามบันทึก น้ำหนักความยาว และพัฒนาการของเด็ก ลงในสมุดสุขภาพ และนำติดตัวไป เมื่อพาเด็ก ไปรับการตรวจสุขภาพ ครั้งต่อไป

อายุ 3-6 เดือน
M3-6 การให้นมแม่
ทารกที่กินนมแม่ ควรจะให้นมแม่ต่อไป สำหรับทารกที่กินนมผสม ก็ยังคงใช้นมดัดแปลงสำหรับทารก ที่มีธาตุเหล็ก ซึ่งอาจจะให้มื้อละ 4-6 ออนซ์ วันละ 6 มื้อ หรือทุก 3-4 ชม. หลังอายุ 4 เดือน ควรจะค่อยๆ ลดนมมื้อกลางคืน และเพิ่มปริมาณนม ในแต่ละมื้อ

ห้ามใช้นมข้นหวาน หรือนมวัวธรรมดา เลี้ยงทารก ตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุ 1 ปี

M3-6 อาหารตามวัย
- ระยะนี้ทารกต้องการอาหาร ที่มีธาตุเหล็ก และวิตามินต่างๆ เพิ่มขึ้น เมื่อทารก อายุครบ 4 เดือน ควรเริ่มให้ข้าวบด กับไข่แดงสุก หรือข้าวบดกับตับ สลับกับ ข้าวบดกับถั่วต้มเปื่อย หรือเต้าหู้ขาว โดยเริ่มให้มื้อละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ควรให้อาหารวันละมื้อ เพิ่มจากนม ทารกควรได้รับ อาหารมื้อหลัก 1 มื้อ แทนนม เมื่ออายุ 6 เดือน
- อาหารสำหรับทารกวัยนี้ ควรทำให้อ่อนนุ่ม สับ บด ต้มเปื่อย และไม่ควรมีรสจัด ไม่ควรเติมสารปรุงรสใดๆ
- อาหารชนิดใหม่ ควรเริ่มทีละชนิดเดียว และค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น เพื่อดูว่าลูกมีอาการแพ้ เช่น ผื่น ท้องเสียหรือไม่ ซึ่งอาจเกิดขึ้น ภายในเวลา 1-2 สัปดาห์ ถ้าทารกปฏิเสธ เพราะไม่คุ้นเคย ควรจะงดไว้ก่อน แล้วลองให้ใหม่ ทีละน้อย อีกใน 3-4 วัน ต่อมา จนทารกยอมรับ
- เมื่อทารก อายุครบ 5 เดือน เริ่มข้าวบดกับเนื้อปลา อาจเติมฟักทอง หรือผักใบเขียว เช่น ตำลึงหรือผักบุ้ง ที่ล้างให้สะอาด สับละเอียดต้มสุก

M3-6 การเติบโตโดยประมาณ
อายุ 3 เดือน หนัก 5.5 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 59 เซนติเมตร
อายุ 4 เดือน หนัก 6 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 62 เซนติเมตร
อายุ 5 เดือน หนัก 6.5 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 64 เซนติเมตร
อายุ 6 เดือน หนัก 7 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 67 เซนติเมตร

M3-6 พัฒนาการ
M3-6 การทรงตัวและเคลื่อนไหว
ท่าคว่ำ ชันคอ ยกศีรษะขึ้นสูงได้ โดยใช้แขนยัน ยกหน้าอกชูขึ้น เมื่อจับให้อยู่ในท่านั่ง จะยกศีรษะตั้งครงได้ อายุ 5-6 เดือน คว่ำและหงายเอง และคืบได้

M3-6 การใช้ตาและมือ
มองตาม สิ่งที่เคลื่อนที่ จากข้างหนึ่ง ไปอีกข้างหนึ่ง มือ 2 ข้างจับกันตรงกลาง ไขว่คว้าสิ่งของ ที่ใกล้ตัว อายุ 6 เดือน ใช้มือเดียว จับของได้

M3-6 การสื่อความหมายและภาษา
หันตาม เมื่อได้ยินเสียงเรียกชื่อ ส่งเสียงอ้อแอ้โต้ตอบ หัวเราะเสียงดัง ส่งเสียงแหลมรัว เวลาดีใจ หรือสนุก

M3-6 อารมณ์และสังคม
ยิ้มตอบ และยิ้มทัก ทำท่าทางดีใจ เวลาเห็นอาหาร พ่อแม่ และคนเลี้ยงดู เริ่มรู้จักแปลกหน้า

M3-6 การตรวจสุขภาพและรับวัคซีน
พาไปตรวจสุขภาพ รับคำแนะนำการเลี้ยงดู และรับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นระยะ
อายุ 4 เดือน วัคซีนป้องกันโรค โปลิโอ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (อาจมีไข้)
อายุ 6 เดือน วัคซีนป้องกันโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และตับอับเสบบี (อาจมีไข้)

M3-6 ข้อเสนอแนะ
1. เริ่มป้อนอาหาร ด้วยช้อนที่ขอบมน ไม่คม
2. จัดหาที่ปลอดภัย ให้เด็กหัดคว่ำและคืบ
3. เล่นกับลูก โดยชูมือ หรือของเล่น ให้ลูกไขว่คว้า เรียกชื่อ ให้ลูกหันมา ชมเชยให้กำลังใจ เมื่อลูกพยายาม หรือทำได้
4. หาของเล่นสีสด ชิ้นใหญ่ ที่ปลอดภัย ให้ลูกหยิบจับ มองตาม และให้คืบ ไปหา
5. พ่อแม่ช่วยกันยิ้มเล่น มองหน้า และสบตากับเด็ก พูดคุยโต้ตอบ เลียนเสียงของเด็ก พูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่กับเด็ก เช่น อาบน้ำ กินข้าว
6. การเว้นช่วง การมีลูกคนต่อไปประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้แม่มีสุขภาพดี และลูกแต่ละคนได้รับการเอาใจใส่ ดูแลอย่างเต็มที่ ขอคำปรึกษาได้ จากแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
7. บันทึกน้ำหนัก ความยาว และพัฒนาการของเด็ก ลงในสมุดสุขภาพ และนำติดตัวไป เมื่อพาเด็ก ไปรับการตรวจสุขภาพ ครั้งต่อไป

อายุ 6-9 เดือน
M6-9 การให้นม
- ทารกที่กินนมแม่ ควรจะให้นมแม่ต่อไป
- ทารกที่กินนมผสม อาจจะใช้นมดัดแปลง สำหรับทารก (Infant Formula) ต่อไปก็ได้ หรือจะเปลี่ยนเป็น นมสูตรต่อเนื่อง (Follow-up formula) ซึ่งเป็นนมวัวดัดแปลง สำหรับเด็ก 6 เดือนถึง 3 ปี ก็ได้ ผสมให้ถูกต้อง มื้อละ 6-8 ออนซ์ ให้นมวันละ 4-5 มื้อ เมื่อรวมทั้งวัน 24 ชม. แล้ว ทารกไม่ควรได้รับ นมวัวดัดแปลง เกิน 32 ออนซ์ ในระยะนี้ ทารกส่วนใหญ่ จะหลับตลอดคืน ควรงดดื่มนมมื้อดึกได้

M6-9 อาหารตามวัย
- ทารกอายุ 6 เดือน ควรได้อาหารมื้อหลัก 1 มื้อ ซึ่งเป็นข้าวบดใส่ไข่แดง เนื้อปลา ตับ ถั่วต้มเปื่อย หรือเต้าหู้ขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง ผสมผักใบเขียว รวมหนึ่งถ้วยเล็ก ก็จะทำให้ทารกอิ่มพอดี ควรใช้ช้อนเล็กๆ ขอบมนตักป้อนให้ช้าๆ
- เมื่อทารกอายุได้ 7 เดือน เริ่มให้เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู หรือ เนื้อบดหรือสับละเอียดต้มสุก ประมาณ 1 ช้อนผสมกับข้าว และผักใบเขียว นอกจากจะได้อาหารมื้อหลัก 1 มื้อแล้ว อาจให้อาหารว่าง แก่ทารกได้อีก 1 มื้อ เช่น กล้วยสุกครูด มะละกอสุก หรือ ฟักทอง ในปริมาณ 2-4 ช้อนโต๊ะ
- ทารกอายุ 8 เดือน ควรได้อาหารมื้อหลัก 2 มื้อ และนมอีก 4 มื้อใน 24 ชั่วโมง

M6-9 การเติบโตโดยประมาณ
อายุ 6 เดือน หนัก 7 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 66 เซนติเมตร
อายุ 7 เเดือน หนัก 7.5 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 68 เซนติเมตร
อายุ 8 เดือน หนัก 8.5 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 70 เซนติเมตร

M6-9 พัฒนาการ
M6-9 การทรงตัวและการเคลื่อนไหว
คว่ำและหงายได้เอง ในท่าคว่ำ ใช้ข้อมือ ยันตัวขึ้นได้ นั่งได้ชั่วครู่ ตอนแรก อาจต้องเอามือพยุงตัวไว้ ต่อมาราวอายุ 8 เดือน จะนั่งเอง ได้มั่นคง ท่าจับยืน เริ่มลงน้ำหนักที่เท้าได้ ต่อมาจะซอยเท้า

M6-9 การใช้ตาและมือ
คว้าของด้วยฝ่ามือ เอื้อมหยิบสิ่งของ ด้วยมือข้างเดียว และเปลี่ยนมือถือของได้ อายุ 8-9 เดือน เริ่มใช้หัวแม่มือ และนิ้วชี้ หยิบสิ่งของ มองเห็นทั้งไกลและใกล้ ใช้ทั้งสองตา ประสานกันได้ดี

M6-9 การสื่อความหมายและภาษา
หันหาเสียง เมื่อถูกเรียกชื่อ เล่นน้ำลาย ส่งเสียงหลายพยางค์ซ้ำๆ เช่น หม่ำๆ

M6-9 อารมณ์และสังคม
รู้จักแปลกหน้า กินอาหาร ที่ป้อนด้วยช้อนเล็ก เวลารู้สึกขัดใจจะร้อง และรู้จักแสดงท่าทางดีใจ หัวเราะ หรือตบมือ

M6-9 การตรวจสุขภาพและรับวัคซีน
พาไปตรวจสุขภาพ รับคำแนะนำการเลี้ยงดู และรับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นระยะ
อายุ 6 เดือน วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และตับอักเสบบี
อายุ 9 เดือน วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม (หรือหัดอย่างเดียว) ถ้าไม่มีวัคซีนรวม

M6-9 ข้อเสนอแนะ
1. หัดลูกให้หยิบอาหารด้วยมือ หัดถือช้อน
2. หาของเล่นที่ปลอดภัย ให้ลูกหยิบจับ ปีน และเคาะเขย่าเล่น
3. ระวังเรื่องความสะอาด และของชิ้นเล็ก ที่อาจหลุดติดคอได้
4. ควรอุ้มให้น้อยลง เพื่อให้เด็กคืบคลาน นั่งด้วยตัวเอง และหัดเกาะยืน แต่พ่อแม่ต้องดูแลโดยใกล้ชิด
5. ระวังอุบัติเหตุ จากการห้อยโหนตัว เหนี่ยวของ ปลั๊กไฟ การสำลัก เมล็ดผลไม้ ถั่ว และเม็ดยา
6. พ่อแม่และผู้เลี้ยงดู หมั่นพูดคุยกับเด็ก ชี้ชวนให้สนใจ สิ่งแวดล้อม ร้องเพลง พูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่กับเด็ก เช่น อาบน้ำ กินข้าว แต่งตัว
7. การเว้นช่วงการมีลูกคนต่อไป ประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้แม่มีสุขภาพดี และลูกแต่ละคน ได้รับการเอาใจใส่ ดูแลอย่างเต็มที่ ขอคำปรึกษาได้ จากแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
8. บันทึกน้ำหนัก ความยาวและพัฒนาการของเด็ก ลงในสมุดสุขภาพ และนำติดตัวไป เมื่อพาเด็ก ไปรับการตรวจสุขภาพ ครั้งต่อไป

อายุ 9-12 เดือน
M9-12 การให้นม
- นมแม่ในระยะนี้ จะมีปริมาณลดลง แต่คุณภาพยังดีอยู่ จึงควรจะให้ทารก กินนมแม่ต่อไป
- สำหรับทารกที่กินนมผสมนั้น ให้ใช้นมผสมนั้น ให้ใช้นมวัวดัดแปลง สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน - 3 ปี (follow-up) หรือนมดัดแปลง สำหรับทารก (infant formula) ในปริมาณไม่เกินวันละ 32 ออนซ์ และระยะนี้ ทารกควรจะหลับตลอดคืน โดยไม่ตื่นขึ้นมากินนมมื้อดึก
- เพื่อให้เด็กกินอาหารได้ตามวัย ควรลดมื้อนมลง เพื่อทดแทนด้วยอาหาร รวมทั้งนมและอาหาร ควรเป็นประมาณ 6 มื้อใน 24 ชั่วโมง เช่น ถ้าให้อาหาร 2 มื้อ ควรให้นมอีก 4 มื้อ
- ห้ามให้นมข้นหวาน หรือนมวัวธรรมดา เลี้ยงทารก ตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุ 1 ปี

M9-12 อาหารตามวัย
- อายุ 9 เดือน ทารกในวัยนี้ ควรจะได้อาหารมื้อหลัก 2 มื้อ มื้อละ 1 ถ้วย โดยเตรียมจาก ข้าวบดผสมไข่แดงทั้งฟอง ตับ หรือเนื้อสัตว์ ถั่วต้มเปื่อย กับผักใบเขียว นอกจากนี้ อาจจะเริ่มให้ไข่ทั้งฟองที่ต้มสุก และบดละเอียดแก่ทารกได้ ยกเว้นเด็กที่มีประวัติภูมิแพ้
- อายุ 10-12 เดือน ทารกควรได้อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และให้อาหารว่างวันละ 1 มื้อ เช่น กล้วยสุกครูด มะละกอสุก ฟักทองนึ่ง ในปริมาณ 3-4 ช้อนโต๊ะ

M9-12 การเติบโตโดยประมาณ
อายุ 9 เดือน หนัก 8 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 72 เซนติเมตร
อายุ 10 เดือน หนัก 8.5 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 73 เซนติเมตร
อายุ 11 เดือน หนัก 8.8 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 74 เซนติเมตร
อายุ 12 เดือน หนัก 9 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 75 เซนติเมตร

M9-12 พัฒนาการ
M9-12 การทรงตัวและเคลื่อนไหว
นั่งได้มั่นคง คลาน เกาะยืน หัดตั้งไข่ ยืนเองได้ชั่วครู่ เมื่ออายุ 12 เดือน และจูงเดินได้

M9-12 การใช้ตาและมือ
ใช้นิ้วหยิบของได้ เริ่มหยิบของเล็ก โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ได้ มองตามของที่ตกจากมือ เปิดหาของที่ซ่อนไว้ได้

M9-12 การสื่อความหมายและภาษา
ฟังรู้ภาษา และเข้าใจสีหน้าท่าทางได้ ยื่นของให้เวลาพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงขอ เปล่งเสียงเลียนแบบพยัญชนะ แต่ไม่มีความหมาย

M9-12 อารมณ์และสังคม
เล่นจ๊ะเอ๋ได้ ตามเก็บของที่ตก รู้จักคนแปลกหน้า และร้องตามแม่ เมื่อแม่จะออกไปจากห้อง หยิบอาหารกินได้

M9-12 การตรวจสุขภาพและรับวัคซีน
พาไปตรวจสุขภาพ รับคำแนะนำการเลี้ยงดู และรับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคเป็นระยะ
อายุ 9 เดือน วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม หรือหัดอย่างเดียวถ้าไม่มีวัคซีนรวมอาจมีไข้และผื่นขึ้นได้ 5-7 วันหลังได้วัคซีน
อายุ 12 เดือน ตรวจสุขภาพ ติดตามการเติบโตและพัฒนาการ

M9-12 ข้อเสนอแนะ
1. ให้อาหารเพิ่มเป็น 3 มื้อ และบดอาหารให้หยาบขึ้น เป็นชิ้นเล็กๆ ที่อ่อนนุ่ม เพื่อให้เด็กหัดเคี้ยวและกลืน
2. เริ่มให้เด็กถือช้อน หัดตักของข้นๆ บ้าง และให้หัดดื่มจากถ้วย
3. ให้หยิบจับของเล่น สิ่งของในบ้าน ที่ไม่มีอันตราย
4. พ่อแม่และผู้เลี้ยงดู ควรเล่นกับเด็กบ่อยๆ พูดคุยด้วย และทำท่าทางเล่นกับเด็ก เช่น จ๊ะเอ๋ จับปูดำ แมงมุม จ้ำจี้ ตบมือ
5. ให้เด็กมีส่วนร่วมกิจกรรมครอบครัวบ้าง และให้โอกาสเด็กเล่นเองบ้าง แต่ต้องมีผู้ดูแล ตลอดเวลา
6. ระวังอุบัติเหตุในบ้าน เช่น พลัดตกจากบันได ปลั๊กไฟ การสำลักเมล็ดผลไม้ ถั่ว และเม็ดยา
7. สอนเด็กให้รู้ว่า สิ่งใดควรทำ หรือไม่ควรทำ โดยบอกหรือทำท่าทาง ให้เด็กรู้ เช่น เมื่อเด็กทำสิ่งที่ไม่สมควร ควรจับตัวไว้ มองหน้า หรือห้าม แต่เมื่อเด็กทำสิ่งที่ดี ควรจะยิ้ม กล่าวชม หรือกอด
8. การเว้นช่วง การมีลูกคนต่อไป ประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้แม่มีสุขภาพดี และลูกแต่ละคน ได้รับการเอาใจใส่ดูแล อย่างเต็มที่ โปรดปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
9. บันทึกน้ำหนัก ความยาว และพัฒนาการของเด็ก ลงในสมุดสุขภาพ และนำติดตัวไป เมื่อพาเด็ก ไปรับการตรวจสุขภาพ ครั้งต่อไป

อายุ 18-24 เดือน
M18-24 การให้นม
- นมเป็นอาหารที่มีประโยชน์ สำหรับเด็กวัยนี้ แม้ว่าน้ำนมแม่ จะหมดไปแล้ว อาจใช้นมวัวดัดแปลง สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี (follow-up) หรือนมวัวธรรมดา เช่น นมสด UHT นมพาสเจอร์ไรซ์ วันละประมาณ 3 มื้อ ครั้งละ 7-8 ออนซ์ โดยให้ดื่มจากถ้วย หรือใช้หลอดดูด ควรเลิกใช้ขวดนม

M18-24 อาหารตามวัย
- เด็กควรใด้อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ ที่มีสารอาหารครบ เหมือนผู้ใหญ่ แต่ละมื้อ นอกจากข้าวหรืออาหารแป้ง 1 ถ้วย ควรมีเนื้อสัตว์ 1 ช้อนโต๊ะ น้ำมันพืช ที่นำมาใช้ปรุงอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด และผักใบเขียว เด็กควรกินไข่ทั้งฟอง วันละ 1 ฟอง และผลไม้
- อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ เหมือนผู้ใหญ่ และอาหารว่าง 1 มื้อ ควรเป็นผลไม้เช่น กล้วย มะละกอสุก สัม เป็นต้น
- ควรทำอาหารให้สุก อ่อนนุ่ม และเป็นชิ้นเล็กๆ ให้เด็กเคี้ยว

M18-24 การเติบโตโดยประมาณ
อายุ 18 เดือน หนัก 10.8 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 80 เซนติเมตร
อายุ 24 เดือน หนัก 11.8 กิโลกรัม ตัวยาวประมาณ 85 เซนติเมตร

M18-24 พัฒนาการ
M18-24 การทรงตัวและเคลื่อนไหว
เดินคล่อง วิ่ง จูงมือเดียว ขึ้นบันได เดินถอยหลัง เตะบอลได้

M18-24 การใช้ตาและมือ
วางของซ้อนกัน 4-6 ชิ้น ขีดเขียนเป็นเส้นยุ่งๆ เอง ขีดเส้นตรง ในแนวดิ่งได้

M18-24 การสื่อความหมายและภาษา
ทำตามคำบอก ที่ไม่มีท่าทางประกอบได้ ชี้รูปภาพ ตามคำบอกได้ พูดเป็นคำโดด ได้หลายคำ พูดเป็นวลี 2-3 พยางค์ต่อกัน เมื่ออายุ 2 ปี

M18-24 อารมณ์และสังคม
ถือถ้วยน้ำดื่มเอง ใช้ช้อนตักอาหาร แต่ยังหกบ้าง เริ่มถอดเสื้อผ้าเองได้ เริ่มความคิด และตัดสินใจด้วยตนเอง เริ่มต่อต้านคำสั่ง อาจร้องงอแง เมื่อรู้สึกขัดใจ

M18-24 การตรวจสุขภาพและรับวัคซีน
พาไปตรวจสุขภาพ รับคำแนะนำการเลี้ยงดู และรับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นระยะ
อายุ 18 เดือน วัคซีนป้องกัน โปลิโอ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (อาจมีไข้ได้) วัคซีนป้องกัน ไข้สมองอักเสบ 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้
อายุ 24 เดือน ตรวจสุขภาพ ติดตามการเติบโต และพัฒนาการ

M18-24 ข้อเสนอแนะ
1. ให้กินอาหารเอง ร่วมวงกินอาหารกับครอบครัว เลิกใช้นมขวด เด็กอาจเบื่ออาหารบ้าง ห่วงเล่น ไม่ควรบังคับ แต่ควรให้อาหารตามเวลา และไม่ให้กินจุบจิบ หรือให้น้ำอัดลม ของหวาน ก่อนมื้ออาหาร
2. หัดแปรงฟัน โดยทำเป็นแบบอย่าง เริ่มพาตรวจสุขภาพฟัน กับทันตแพทย์
3. ฝึกขับถ่าย อุจจาระปัสสาวะ ให้เป็นที่ เช่น กระโถนหรือส้วม ที่ดัดแปลงให้เด็กใช้ได้ แต่เด็กอาจทำเปื้อนได้ โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเพิ่งจะหัดควบคุม การขับถ่าย
4. สอนการช่วยตัวเอง ในกิจวัตรประจำวัน และระเบียบวินัยอย่างง่ายๆ ถ้วยการทำตัวเป็นแบบอย่าง ใช้วิธีชักจูงให้สนใจทำ จะได้ผลดีกว่า การสั่งหรือบังคับขู่เข็ญ เมื่อเด็กทำไม่ถูกต้อง ควรแนะนำสั่งสอน อย่างละมุนละม่อมทันที
5. ส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก โดย
- ให้ของเล่นที่เริ่มซับซ้อนกว่าเดิม สีสันและรูปทรงต่างกัน เล่นน้ำ เล่นทราย
- เล่นเกมง่ายๆ เช่น แมงมุม จ้ำจี้ ไล่จับ
- พ่อแม่คุยกับเด็ก เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว ให้ดูรูปภาพ และเล่าเรื่องสั้นๆ
- ให้ความสนใจ เมื่อเด็กมีพฤติกรรม ที่พึงประสงค์ โต้ตอบยิ้มแย้ม ชมเชยบ้าง แต่ต้องฝึกให้เด็กรู้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร โดยชี้แนะ และให้เด็กมีทางเลือกเองบ้าง
6. บันทึกน้ำหนัก ความยาว และพัฒนาการของเด็ก ลงในสมุดสุขภาพ และนำติดตัวไป เมื่อพาเด็ก ไปรับการตรวจสุขภาพ ครั้งต่อไป เอาใจใส่ ดูแลลูกสักนิด สร้างความรัก ความเข้าใจ เป็นสายใยของครอบครัว

Y2-3 อายุ 2-3 ปี
Y2-3 การให้นม
นมเป็นอาหารที่มีประโยชน์ สำหรับเด็กวัยนี้ ควรให้เด็กดื่มนมวัวธรรมดา UHT พาสเจอร์ไรซ์ หรือนมถั่วเหลือง เป็นประจำทุกวัน วันละ 6-8 ออนซ์

Y2-3 อาหารตามวัย
อาหาร 3 มื้อ เหมือนผู้ใหญ่ กับข้าวแต่ละมื้อ ควรมีเนื้อสัตวฺ์ประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ ไข่ น้ำมันพืชและผัก นม 2-3 แก้วต่อวัน อาหารว่าง 1 มื้อ เป็นผลไม้ เช่น มะละกอ ส้ม กล้วย เป็นต้น ฝึกให้เด็ก ตักอาหารกินเอง

Y2-3 การเติบโตโดยประมาณ
อายุ 2 ปี หนัก 11.8 กิโลกรัม สูงประมาณ 85 เซนติเมตร
อายุ 2 ปีครึ่ง หนัก 12.8 กิโลกรัม สูงประมาณ 88 เซนติเมตร
อายุ 3 ปี หนัก 13.8 กิโลกรัม สูงประมาณ 92 เซนติเมตร

Y2-3 พัฒนาการ
Y2-3 การทรงตัวและเคลื่อนไหว
เตะลูกบอล และขว้างลูกบอล ไปข้างหน้า กระโดดอยู่กับที่ เดินขึ้นบันได สลับเท้า ขี่รถจักรยานสามล้อได้ เมื่ออายุ 3 ปี

Y2-3 การใช้ตาและมือ/สติปัญญา
เปิดหนังสือ ทีละแผ่น ต่อชั้นไม้สูง 8 ชั้น เขียนกากบาทและวงกลมได้ ตามตัวอย่าง

Y2-3 การสื่อสารความหมายและภาษา
อายุ 2 ปี พูดได้ 2-3 คำ ต่อกัน ต่อมา พูดเป็นประโยค และโต้ตอบ ได้ตรงเรื่อง ร้องเพลงง่ายๆ บอกชื่อตัวเองได้ อาจพูดบางคำยังไม่ชัด

Y2-3 อารมณ์และสังคม
บอกเวลาจะถ่ายอุจจาระ ถอดเสื้อผ้าได้ และใส่เองได้ อายุ 3 ปี บอกเพศของตัวเองได้ เล่นเข้ากลุ่ม และรู้จักขอและแบ่งปันได้ รู้สึกมั่นใจ ในตนเองมากขึ้น เล่นเองได้นานขึ้น จะแยกจากแม่ได้ จึงเป็นช่วงเหมาะ ที่จะเริ่มเข้าอนุบาล

Y2-3 การตรวจสุขภาพและรับวัคซีน
พาไปตรวจสุขภาพ รับคำแนะนำ การเลี้ยงดู และรับวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นระยะ
อายุ 2 ปี ตรวจสุขภาพ ติดตามการเติบโต และพัฒนาการ
อายุ 2 ปีครึ่ง วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ
อายุ 3 ปี ตรวจสุขภาพ ติดตามการเติบโต และพัฒนาการ

Y2-3 ข้อเสนอแนะ
1. ฝึกการช่วยเหลือตัวเอง เช่น กินข้าว แปรงฟัน แต่งตัว โดยให้เด็กลองทำเอง ชี้แนะช่วยเหลือ เท่าที่จำเป็น
2. เปิดโอกาสให้เล่นกับเด็กอื่น ในวัยเดียวกัน และเล่นกลางแจ้ง โดยคอยดูแลใกล้ชิด
3. พูดคุยและรับฟังเด็ก พยายามอธิบายโดยใช้เหตุผล และเลือกรายการโทรทัศน์ ที่เหมาะสมกับเด็ก ให้ดูไม่เกินวันละ 1-2 ชั่วโมง
4. อายุ 3 ปี เริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาล ซึ่งไม่ควรเน้นเรื่องการเรียน อย่างท่องจำ หรืออ่านเขียน แต่ควรเตรียมความพร้อม เสริมพัฒนาการทุกด้าน ได้แก่ การเคลื่อนไหว สติปัญญา การสื่อภาษา ด้านอารมณ์และสังคม
5. ระวังอุบัติเหตุ พลัดตกจากที่สูง สารพิษ ของมีคม จมน้ำ ใช้เข็มขัดนิรภัย เวลานั่งรถยนต์ หลีกเลี่ยงการเอาเด็ก นั่งมอเตอร์ไซด์
6. พาไปตรวจสุขภาพ และพบทันตแพทย์ เพื่อเคลือบฟลูโอไรด์
7. บันทึกน้ำหนัก ความยาว และพัฒนาการของเด็ก ลงในสมุดสุขภาพ และนำติดตัวไป เมื่อพาเด็ก ไปรับการตรวจสุขภาพ ครั้งต่อไป

Y3-6 อายุ 3-6 ปี
Y3-6 การให้นม
นมเป็นอาหารที่มีประโยชน์ สำหรับเด็กวัยนี้ ควรให้เด็กดื่มนมวัวธรรมดา UHT พาสเจอร์ไรซ์ หรือนมถั่วเหลือง เป็นประจำทุกวัน วันละ 2-3 ถ้วย ครั้งละ 6-8 ออนซ์

Y3-6 อาหารตามวัย
อาหาร 3 มื้อ เหมือนกับผู้ใหญ่ กับข้าวในแต่ละมื้อ ควรให้มีเนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ ไข่ น้ำมันพืช ไข่ น้ำมันพืช และผัก นม 2-3 แก้วต่อวัน อาหารว่าง 1 มื้อเป็นผลไม้ เช่น มะละกอสุก ส้ม กล้วย เป็นต้น จัดให้เด็กกินอาหารเอง ร่วมสำหรับกับครอบครัว

Y3-6 การเติบโตโดยประมาณ
อายุ 3 ปี หนัก 13.8 กิโลกรัม สูงประมาณ 92 เซนติเมตร
อายุ 4 ปี หนัก 16 กิโลกรัม สูงประมาณ 100 เซนติเมตร
อายุ 5 ปี หนัก 18 กิโลกรัม สูงปประมาณ 108 เซนติเมตร
อายุ 6 ปี หนัก 20 กิโลกรัม สูงประมาณ 115 เซนติเมตร

Y3-6 พัฒนาการ
Y3-6 การทรงตัวและเคลื่อนไหว
ยืนขาเดียว ได้ชั่วครู่ กระโดดขาเดียวได้ ขึ้นลงได้ สลับเท้า เดินต่อส้นเท้า เป็นเส้นตรง ไปข้างหน้าได้

Y3-6 การใช้ตาและมือ/สติปัญญา
ต่อชิ้นไม้สามชิ้น เป็นสะพาน วาดรูปคน มีอย่างน้อย 2 ส่วน คือส่วนหัว และแขนหรือขา เขียนวงกลม สี่เหลี่ยม และสามเหลี่ยมได้ ตามแบบ เมื่ออายุ 3, 4 และ 5 ปี ตามลำดับ

Y3-6 การสื่อความหมายและภาษา
เข้าใจความหมาย ของคำถามมากขึ้น เล่าเรื่องได้ นับของได้ถึง 3-5 ชิ้น ถาม "ทำไม" "เมื่อไร" นับ 1 ถึง 10 โดยท่องจำ

Y3-6 อารมณ์และสังคม
ควบคุมการถ่ายอุจจาระได้ดี แยกจากมารดาได้ ไม่ร้องช่วยตัวเอง ในกิจวัตรประจำวัน ควบคุมการถ่ายปัสสาวะได้ ส่วนใหญ่ ไม่ปัสสาวะรดที่นอน หลังอายุ 4 ปี ปรับตัวได้กับกฎระเบียบ เล่นสมมติ และมีจินตนาการ

Y3-6 การตรวจสุขภาพและรับวัคซีน
พาไปตรวจสุขภาพ รับคำแนะนำการเลี้ยงดู และรับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นระยะ
อายุ 3 ปี ตรวจสุขภาพ ติดตามการเติบโต และพัฒนาการ
อายุ 4 ปี วัคซีนป้องกันโปลิโอ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (อาจมีไข้ได้) วัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมันและคางทูม (ถ้ายังไม่เคยได้)
อายุ 5 ปี วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี (กระตุ้น)
อายุ 6 ปี ตรวจสุขภาพ ติดตามการเติบโต และพัฒนาการ

Y3-6 ข้อเสนอแนะ
1. ให้เด็กเล่นรวมกลุ่มกับเพื่อน และฝึกหัดแก้ไขความขัดแย้ง โดยมีผู้ใหญ่ดูแลห่างๆ และช่วยยามจำเป็นเท่านั้น
2. ดูแลให้เด็กมีความรับผิดชอบ ปฏิบัติตามระเบียบวินัย ตามกฎของโรงเรียน และระเบียบในครอบครัว
3. ให้เด็กมีส่วนร่วม ในการช่วยงานบ้าน ฝึกการช่วยตนเอง และเอื้ออาทรต่อผู้อื่น
4. ป้องกันอุบัติเหตุ จากเครื่องไฟฟ้า อุบัติเหตุทางถนน ควรสอนกฎจราจรง่ายๆ แก่เด็ก สอนว่ายน้ำ และฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการเล่นสมมติ
5. ฝึกพฤติกรรม การดูแลสุขภาพทั่วไป พฤติกรรมการกิน ที่ถูกต้อง ไม่กินจุบจิบ ไม่กินของหวาน และมันเกินไป
6. เลือกศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้ลูก ควรพิจารณาเรื่องการเดินทาง ความปลอดภัย และครูที่มีเมตตา เข้าใจเด็กในวัยนี้ มากกว่าที่จะเร่งเรียน
7. พูดคุยตอบคำถามของเด็ก ด้วยความเต็มใจ ชักชวนให้เด็กดูรูปภาพ อ่านหนังสือ และเล่านิทานให้เด็กฟัง
8. บันทึกน้ำหนัก ความยาว และพัฒนาการของเด็ก ลงในสมุดสุขภาพ และนำติดตัวไป เมื่อพาเด็ก ไปรับการตรวจสุขภาพ ครั้งต่อไป

ข. ผังแสดงพัฒนาการทางร่างกาย
ของเด็กวัย 0-5 ปี
พัฒนาการ
ของเด็กชาย พัฒนาการ
ของเด็กหญิง
(หน่วยงานเอกสารอ้างอิง)
หน่วยพัฒนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา: http://www.nyb.go.th/document/content/child/0-5-1.htm

stp@tu.ac.th

Created: Feb-99
Revised: 10-Apr-99

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น