วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วันงดสูบบูหรี่โลก/มิ้ง ข่าวผู้เยาว์


มะเร็งหรือเนื้อร้าย CANCER


ลักษณะทั่วไป
มะเร็งหรือเนื้อร้าย คือ เนื้องอกชนิดร้ายที่กลายมาจากเนื้อเยื่อปกติของร่างกาย มีการเจริญ
เติบโตและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว อยู่นอกเหนือการควบคุมของร่างกาย และมีโทษต่อ
ร่างกาย ในปัจจุบันมะเร็งเป็นสาเหตุการตายในอันดับแรก ๆ ของคนไทย ที่พบบ่อยในบ้านเรา
ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง มะเร็งในช่องปาก
พบมากในคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบในเด็ก และคนหนุ่มสาวได้

สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีปัจจัยหลายๆ อย่างร่วมกัน ซึ่งพอจะแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ
1. ปัจจัยภายในร่างกาย เช่น
- ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- เชื้อชาติ ชาวญี่ปุ่นเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาก ชาวจีนเป็นมะเร็งของโพรงหลังจมูก และ
หลอดอาหารมาก
- เพศ มะเร็งตับ มะเร็งปอด พบมากในผู้ชาย มะเร็งของเต้านม มะเร็งผิวหนัง พบมากในผู้หญิง
- อายุ มะเร็งของลูกตา (Retinoblastoma) มะเร็งของไต พบมากในเด็ก
- กรรมพันธุ์ มะเร็งเต้านมบางชนิด มะเร็งของต่อมไทรอยด์บางชนิด มะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่ พบว่า มีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์ เป็นต้น
2. ปัจจัยภายนอกร่างกาย ได้แก่
2.1 สารกายภาพต่างๆ ได้แก่ การระคายเคืองเรื้อรัง เช่น
- ฟันปลอมที่ไม่กระชับ เวลาเคี้ยวอาหารจะมีการเสียดสีกับเหงือกหรือเพดานปาก อาจทำให้
เกิดมะเร็งของเหงือก หรือเพดานปากได้
- การกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มร้อนจัดเป็นประจำ อาจจะมีการระคายบริเวณหลอดอาหาร
อาจทำให้เป็นมะเร็งของหลอดอาหารได้
- รังสีต่างๆ ถ้าร่างกายได้รับเป็นระยะนาน ๆ ก็อาจเกิดมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ ได้
- แสงอัลตราไวโอเลต อาจทำให้เป็นมะเร็งของผิวหนัง และริมฝีปาก ถ้าถูกแดดจัด ๆ เป็นระยะ
นาน ๆ

2.2 สารเคมี ในปัจจุบันพบสารก่อมะเร็ง (carcinogen) มากกว่า 450 ชนิด อยู่ในรูปของอาหาร
พืช และสารเคมีต่าง ๆ เช่น
- สารหนู อาจทำให้เป็นมะเร็งของผิวหนัง
- บุหรี่ มีสารเบ็นซ์ไพรีน (benzpyrine) ที่เรียกว่า "ทาร์" หรือ "น้ำมันดิน" และสารเคมีพวก
อะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (aromatic hydrocarbon) ทำให้เกิดมะเร็งปอด ช่องปาก ลำคอ
กล่องเสียง หลอดอาหาร ตับอ่อน ปากมดลูก กระเพาะปัสสาวะได้
- แอลกอฮอล์ ทำให้เกิดมะเร็งช่องปาก ลำคอ กล่องเสียง ตับ หลอดอาหาร ลำไส้ใหญ่ เต้านม
- เบนซีน ทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- การเคี้ยวหมากหรือการจุกยาฉุน นอกจากจะมีการระคายเรื้อรังแล้ว ยังมีสารเคมีที่ทำให้เป็น
มะเร็งของช่องปากได้
- สารไนโตรซามีน (nitrosamine) ในอาหาร ทำให้เกิดมะเร็งของตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่
- ดีดีที เมื่อเข้าในร่างกาย อาจเปลี่ยนเป็นสารไดไนโตรซามีน ซึ่งมีฤทธิ์เหมือนไนโตรซามีน

2.3 ฮอร์โมน ฮอร์โมนเอสโตรเจน มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งช่องคลอด และโพรงมดลูก
ฮอร์โมนแอนโดรเจน มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
2.4 การติดเชื้อ เช่น
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี และซี มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งตับ
- การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV/Human papilloma virus) มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง
ปากมดลูก มะเร็งกล่องเสียง หรือทอนซิล
- การติดเชื้อไวรัสเอชทีแอลวี-1 (HTLV-1/Human T-cell leukemia virus)
มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- การติดเชื้อไวรัสอีบีวี (EBV/Epstein-Bar virus) สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด
เบอร์กิต (Burkitt's lymphoma) และมะเร็งโพรงหลังจมูก
- การติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งของหลอด
เลือดที่เรียกว่า Kaposi sarcoma
- การติดเชื้อ เอชไพโลไร (H. pylori/Helicobacter pylori) มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง
กระเพาะอาหาร
2.5 สารพิษ เช่น อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) จากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหาร ทำให้เกิดมะเร็ง
ของตับ
2.6 พยาธิ เช่น พยาธิใบไม้ตับ ทำให้เกิดมะเร็งของตับ
2.7 อาหาร
- ภาวะขาดอาหาร เช่น โรคตับแข็ง ซึ่งเกิดจากการขาดสารโปรตีน จะกลายเป็นมะเร็งตับได้ง่าย
- การบริโภคอาหารพวกไขมันมาก อาจสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ รังไข่ ต่อม
ลูกหมาก มดลูก และตับอ่อน
- การบริโภคผักและผลไม้ วันละ 400-800 กรัม ช่วยลดการเกิดมะเร็งช่องปาก ลำคอ หลอด
อาหารกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน เต้านม และกระเพาะปัสสาวะ

อาการ
ในระยะแรกมักจะไม่ปรากฏอาการ ต่อมาเมื่อเป็นมากขึ้น (อาจนานเป็นเดือน เป็นปี) จะมี
อาการทั่วไป (พบร่วมกันในมะเร็งทุกชนิด) คือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
อาจมีไข้ เรื้อรัง ท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน ซีด เป็นลม ใจหวิว คล้ายหิวข้าวบ่อย
ส่วนอาการเฉพาะของแต่ละโรค (ซึ่งมักเกิดขึ้นก่อนจะมีอาการทั่วไป) เกิดจากก้อนมะเร็งไป
กดเบียดหรือทำลายอวัยวะที่เป็น พอจะสรุปได้ดังนี้
1. มะเร็งผิวหนัง ส่วนมากจะเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงของไฝ ปาน หรือ จุดตกกระในคนแก่
โดยมีอาการคันแตกเป็นแผล เรื้อรังไม่ยอมหาย โดยไม่มีอาการเจ็บปวด ต่อมาแผลโตขึ้นเร็ว
และมีเลือดออก มีสาเหตุสัมพันธ์กับการถูกแสงแดด (แสงอัลตราไวโอเลต) การกินยาที่เข้า
สารหนู หรือน้ำมันดินที่มีผสมอยู่ในยาจีนยาไทย การสัมผัสถูกสารหนู หรือน้ำมันดิน การระคาย
เรื้อรังต่อไฝ ปานหรือหูดที่มีอยู่ก่อน
2. มะเร็งในช่องปาก จะมีก้อนหรือแผลเรื้อรังเกิดขึ้นที่ริมฝีปาก เยื่อบุช่องปาก ลิ้น โดยเริ่มจาก
ฝ้าขาวๆที่เรียกว่า ลิวโคพลาเคีย (Leukoplakia) มีสาเหตุสัมพันธ์กับการระคายเรื้อรัง เช่น กิน
หมาก จุกยาฉุน ฟันเกหรือใส่ฟันปลอมไม่กระชับ ดื่มเหล้าเข้มข้น (ไม่ผสมเจือจาง) สูบบุหรี่
3. มะเร็งที่จมูกและโพรงหลังจมูก มีอาการเลือดออกทางจมูก หน้าชา คัดจมูก ปวดศีรษะ
ต่อมาอาจมีเลือดปนน้ำเหลืองออกทางจมูก หูอื้อ กลืนไม่ได้ ตาเข ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต มะเร็ง
ที่โพรงหลังจมูก มีสาเหตุสัมพันธ์กับการดื่มเหล้าเข้มข้น สูบบุหรี่ การติดเชื้อไวรัสอีบีวี (EBV)
4. มะเร็งที่กล่องเสียง มีอาการเสียงแหบเรื้อรังและอาจมีอาการเจ็บคอ เวลากลืนเหมือนมีก้าง
ติดคอต่อมามีเลือดออกปนกับเสมหะ มีสาเหตุสัมพันธ์กับการดื่มเหล้าเข้มข้น การสูบบุหรี่จัด
การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี
5. มะเร็งปอด มีอาการไอเรื้อรัง น้ำหนักลด ไอออกเป็นเลือดปนเสมหะ มีสาเหตุสัมพันธ์กับการ
สูบบุหรี่ การสูดควันดำจากท่อไอเสียรถ เขม่าจากโรงงาน สารใยหิน (asbestos) หรือฝุ่นนิกเกิล
6. มะเร็งหลอดอาหาร เริ่มแรกอาจรู้สึกเจ็บเวลากลืนอาหาร ต่อมากลืนข้าวสวยไม่ได้ ต่อมากลืน
ข้าวต้มไม่ได้ จนในที่สุดกลืนได้แต่ของน้ำ ๆ หรือ กลืนอะไรก็ไม่ลงเลย พบมากในผู้ชาย มีสาเหตุ
สัมพันธ์กับการกินอาหาร และดื่มของร้อน ๆ (เช่น น้ำชาร้อน ๆ), การดื่มเหล้าเข้มข้น, การสูบ
บุหรี่,ภาวะขาดวิตามินเอ เป็นต้น
7. มะเร็งกระเพาะอาหาร มีอาการท้องอืด แน่นท้องอยู่เรื่อย เบื่ออาหาร ต่อมาอาจมีอาเจียน
คลำก้อนได้ที่ใต้ชายโครงซ้าย น้ำหนักลด ซีด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ มีสาเหตุสัมพันธ์กับ
การเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ จากเชื้อเอชไพโลไร (H. pylori) แบบเรื้อรัง, การกินอาหาร
ที่มีสารไนเทรตหรือไนโตรซามีน, อาหารเค็มหรืออาหารหมักเกลือ, อาหารประเภทรมควัน,
กรรมพันธุ์, การมีประวัติการผ่าตัดกระเพาะอาหาร เป็นต้น
8. มะเร็งตับอ่อน เริ่มแรกอาจมีอาการท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ต่อมามีอาการปวดท้อง และ
ปวดหลังดีซ่าน ถ่ายอุจจาระสีซีดขาว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีสาเหตุสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่
สารไนโตรซามีนสารไฮโดรคาร์บอน การกินอาหารพวกไขมันและโปรตีนสูง และอาจมีสัมพันธ์
กับกรรมพันธุ์
9. มะเร็งลำไส้เล็ก มักมีอาการปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายดำ น้ำหนักลด เป็นไข้
หรือมีภาวะลำไส้อุดตัน (ปวดท้องรุนแรง อาเจียน) บางรายอาจมีอาการดีซ่าน ถ่ายอุจจาระสีซีด
ขาว อาจคลำได้ก้อนในช่องท้อง อาจมีสาเหตุสัมพันธ์กับการเป็นลำไส้เล็กอักเสบเรื้อรัง
10. มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอาการท้องผูกสลับกับท้องเดินแบบเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นเลือด หรือมูกปน
เลือดเรื้อรัง ปวดท้อง ปวดหลัง ซีด น้ำหนักลด มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ เช่น ภาวะโคเลส
เตอรอลในเลือดสูง, การกินอาหารที่มีกากใยน้อย แต่กินพวกไขมันมาก, ประวัติการเป็นมะเร็ง
ในญาติพี่น้อง เป็นต้น
11. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะมีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นก้อนที่บริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ อาจมี
ไข้เรื้อรัง มีสาเหตุสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส เอชทีแอลวี-1, เชื้ออีบีวี, เอดส์, การได้รับยาเคมี
บำบัด หรือรังสีบำบัดมาก่อน เป็นต้น
12. มะเร็งเต้านม คลำได้ก้อนที่เต้านม หัวนมบุ๋ม (เดิมเป็นปกติ เพิ่งมาบุ๋มตอนหลัง) หรือมีน้ำ
เหลืองหรือเลือดออกทางหัวนม ต่อมาจะมีต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกันโต ผู้หญิงที่เสี่ยง
ต่อการเป็นโรคนี้ เช่น ผู้หญิงที่มีมารดาเป็นมะเร็งเต้านม ก่อนวัยหมดประจำเดือน หรือมีญาติ
พี่น้องเป็นโรคนี้หลังวัยประจำเดือน, ผู้หญิงเกิน 50 ปี ที่ยังไม่มีบุตร, ผู้หญิงที่มีบุตรคนแรก
เมื่ออายุเกิน 30 ปี, ผู้หญิงที่มีประวัติเป็นโรคเต้านมเรื้อรัง, คนอ้วน, ผู้ที่สัมผัสถูกรังสี หรือดื่ม
เหล้า
13. มะเร็งปากมดลูก มีเลือดออกเวลาร่วมเพศ มีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด หรือมี
ตกขาวเรื้อรัง มีสาเหตุสัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชพีวี (HPV/Human papilloma virus) ของปาก
มดลูกซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ร่วมกับปัจจัยเสริมอื่น ๆ เช่น การกินยาเม็ดคุมกำเนิด
การสูบบุหรี่เป็นต้น โรคนี้พบมากในผู้หญิงที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย มีสามีหลายคน หรือ
มีสามีสำส่อนทางเพศ และในหญิงบริการ
14. มะเร็งอัณฑะ พบมีก้อนแข็งที่ถุงอัณฑะ และโตขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งอาจมีอาการปวดร่วม
ด้วย สาเหตุ ยังไม่ทราบ พบว่า ผู้ที่มีอัณฑะไม่เลื่อนลงถุงอัณฑะ ซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด อาจค้าง
อยู่ในช่องท้อง หรือขาหนีบ มีโอกาสเป็นมะเร็งอัณฑะมากขึ้น
15. มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัดและบ่อย มีสาเหตุสัมพันธ์
กับการสูบบุหรี่ การสัมผัสถูกสารอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (aromatic hydrocarbon) ที่เป็น
สารประกอบของสีที่ใช้ทางอุตสาหกรรม, การกินอาหารพวกเนื้อปิ้ง ย่าง และไขมันมาก
16. มะเร็งต่อมลูกหมาก มักไม่มีอาการแสดง จนกระทั่งแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง ทำ
ให้มีอาการขัดเบา ปัสสาวะลำบาก หรือ ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดหลังหรือปวด
สะโพกน้ำหนักลด มักพบในคนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีสาเหตุสัมพันธ์กับฮอร์โมนแอนโดรเจน
และพบว่าผู้ที่มีประวัติญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ หรือเคยทำหมันชาย มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้
สูงขึ้น
17. มะเร็งกระดูก มีอาการข้อบวม กระดูกบวม บางครั้งพบหลังเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เข้าใจว่า
เป็นกระดูกหักได้
18. มะเร็งของลูกตาในเด็ก (Retemoblastoma) นัยน์ตาดำของเด็กมีสีขาววาวคล้ายตาแมว
เด็กจะบ่นว่าตาข้างนั้นมัว หรือมองอะไรไม่เห็น เมื่อเป็นมากขึ้น ตาจะเริ่มปูดโปนออกมานอก
เบ้าตา
19. มะเร็งรังไข่หรือไต มีอาการมีก้อนในท้อง ท้องมาน ส่วนมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งตับ
มะเร็งในสมอง จะมีอาการแบบเดียวกับเนื้องอกในสมอง มะเร็งต่อมไทรอยด์

การรักษา
หากสงสัย โดยเฉพาะคนที่มีอาการไข้เรื้อรังเป็นแรมเดือน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดย
ไม่พบอาการที่ชัดเจนอื่นๆ หรือมีอาการเข้าได้กับสัญญาณอันตรายประการใดประการหนึ่ง* ควร
ส่งไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ
เอกซเรย์ทำสะแกน (scan) ตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ (biopsy) และให้การรักษาด้วยการผ่าตัด, ฉายรังสี
(รังสีบำบัด),หรือให้ยารักษามะเร็ง (เคมีบำบัด) หรือปลูกถ่ายอวัยวะ (เช่น ไขกระดูก)
ผลการรักษา ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ระยะความรุนแรงของโรค และสภาพของผู้ป่วย (ความร่วม
มือในการรักษา, การปฏิบัติตน, ความแข็งแรงขะงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย, กำลังใจ เป็นต้น)
มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งต่อมน้ำ
เหลืองบางชนิด, มะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด, มะเร็งในช่องปาก, มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งโพรง
หลังจมูก,มะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นต้น ถ้าหากได้รับการรักษาตั้งแต่แรก อาจมีชีวิตอยู่ได้นาน หรือ
อาจหายขาดได้ส่วนมะเร็งตับหรือปอดมักอยู่ได้ไม่นาน เฉลี่ยประมาณ 6-12 เดือน


*สัญญาณอันตราย 7 ประการ
อาการของมะเร็งในระยะเริ่มแรก อาจสรุปได้ 7 ประการได้แก่
1.การเป็นแผลที่ไม่รู้จักหาย (ปกติควรจะหายภายใน 2 สัปดาห์)
2.การมีตุ่ม ไต ก้อนแข็ง เกิดขึ้นในที่ซึ่งปกติไม่ควรมี โดยเฉพาะบริเวณเต้านม ในช่องท้อง
บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ
3.มีอาการผิดปกติเรื้อรังของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ กลืนอาหารไม่ลง
ท้องผูกสลับ กับท้องเสียอยู่เรื่อย ถ่ายเป็นมูกปนเลือดเรื้อรัง
4.มีอาการไอเรื้อรัง หรือเสียงแหบแห้งอยู่นาน
5.มีการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปาน ที่เคยมีอยู่ก่อน เช่น วันดีคืนดี ก็มีอาการคันเกาแตกเป็นแผล
6.มีอาการผิดปกติของประจำเดือนในผู้หญิง เช่น มีประจำเดือนกะปริดกะปรอย
7.มีน้ำเหลืองหรือเลือด หรือสิ่งผิดปกติอื่น ๆ ออกจากตา หู จมูก เต้านม ช่องคลอด ทวารหนัก

ข้อแนะนำ
1. การรักษาโรคนี้ผู้ป่วยจำต้องมีความอดทน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่าเชื่อชาวบ้าน
ด้วยกันอย่างผิด ๆ อย่าเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลบ่อย และอย่าหันไปพี่งยาหม้อหรือไสยศาสตร์
แทนการแพทย์แผนปัจจุบัน วิธีการดังกล่าวอาจช่วยให้เกิดกำลังใจดีขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน
ว่าจะรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้
2. ทั้งผู้ป่วยและญาติ ควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจ ด้วยการยอมรับความจริง, ทำใจให้อยู่กับ
ปัจจุบันและใช้เวลาปัจจุบันให้มีคุณค่าที่สุด, ระหว่างการรักษากับแพทย์และยังสามารถทำกิจกรรม
ต่าง ๆ ได้ดี ก็ทำหน้าที่การงานที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด, หาโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น, ทำสมาธิ หรือเจริญ
สติสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ, เจริญมรณสติ และเตรียมพร้อมที่จะเผชิญวาระสุดท้าย
ของชีวิต, หาทางเข้ากลุ่ม พูดคุยปรับทุกข์ และให้กำลังใจร่วมกันกับผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งด้วยกัน (เช่น
การเข้า กลุ่มหรือชมรมช่วยเพื่อน)
3. มะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าตรวจพบและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่เป็น
ดังนั้นจึงควรแนะนำให้ประชาชนทั่วไปทราบถึง " สัญญาณอันตราย 7 ประการ" ของโรคนี้ หากสง
สัยควรปรึกษาแพทย์เสียแต่เนิ่น ๆ เมื่อแพทย์ตรวจแล้วว่าไม่เป็นมะเร็ง ก็สบายใจได้อย่าได้วิตก
กังวลจนเกินเหตุ
4. ถึงแม้จะไม่มีอาการผิดปกติ ก็ควรหมั่นปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเช็กมะเร็งในระยะเริ่มแรก
(ก่อนปรากฏอาการ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยมีญาติพี่น้องเป็นมะเร็ง ตามแนวทางดังนี้
4.1 ทั้งชาย และหญิง
- อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งทวารหนักด้วยวิธีส่องกล้อง (sigmoidoscope) ทุก 3-5 ปี และ
ตรวจอุจจาระดูว่า มีเลือดออกหรือไม่ โดยวิธีที่เรียกว่า "Occult blood test" ทุกปี
- อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งทวารหนัก ด้วยการใช้นิ้วตรวจภายในทวารหนัก (digital rectal
examination) ทุกปี
4.2 เฉพาะผู้ชาย อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการใช้นิ้วตรวจภายใน
ทวารหนัก และตรวจเลือดหาสารพีเอสเอ (PSA/Prostate-specific antigen)
4.3 เฉพาะผู้หญิง
- อายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งโสดและแต่งงานแล้ว หรืออายุต่ำกว่านี้ที่มีเพศสัมพันธ์บ่อย (โดยเฉพาะอย่าง
ยิ่งอายุ 35-60 ปี ที่แต่งงานแล้ว) ควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก ด้วยวิธีแพ็ปสเมียร์
(Pap smear/Papanicolaou test) ปีละครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 3 ครั้ง เมื่อพบว่าปกติ ก็เว้นไป
ตรวจทุก
3-5 ปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์
- อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเอง ทุกเดือน
- อายุ 20-40 ปี ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุก 3 ปี และอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจปีละครั้ง
- อายุ 40-50 ปี ควรตรวจหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก ด้วยการถ่ายภาพรังสี ที่เรียกว่า แมมโม
กราฟี (mammography) ทุก 1-2 ปี และอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุกปี

การป้องกัน
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันมะเร็ง
1. พยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ, พักผ่อนให้เพียงพอ,
หาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ อย่าอยู่ในที่ ๆ อากาศไม่บริสุทธิ์ งดสิ่งเสพติด เช่น
เหล้า บุหรี่ หมากพลู ยาฉุน, รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑฑ์ปกติ โดยคิดจากดัชนีความหนา
ของร่างกาย (BMI/Body mass index) ตามสูตรดังนี้

ดัชนีความหนาของร่างกาย = น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วย ส่วนสูง(เป็นเมตร) ยกกำลังสอง

ปกติจะอยู่ในช่วง 20-24.9 กก./ตารางเมตร ถ้าต่ำกว่า 20 แสดงว่าน้ำหนักน้อยเกินไป ถ้ามากกว่า
24.9 ก็แสดงว่าน้ำหนักมากเกินไป
2. อย่ากินอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่ร้อน ๆ
3. อย่ากินอาหารดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ (โดยเฉพาะปลาน้ำจืดดิบ) หรืออาหารที่มีเชื้อรา (เช่น ถั่วลิสง
บด พริกแห้ง หัวหอม กระเทียมที่ขึ้นรา)
4. พยายามหลีกเลี่ยงอาหารโปรตีนหมัก เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม หรือ เนื้อสัตว์ ที่หมัก
โดยผสมดินประสิว (เช่น เนื้อเค็ม กุนเชียง ไส้กรอก แฮม) ถ้าจะกินควรทำให้สุกเพื่อทำลายสาร
ไนโตรซามีนเสียก่อน
5. พยายามอย่ากินอาหาร หรือขนมที่ใส่สีย้อมผ้า (ซึ่งทำให้ดูสีสดใสน่ากิน) หรืออาหารที่มียาฆ่า
แมลงเจือปนโดยเฉพาะ ดีดีที หรือยาที่เข้าสารหนู
6. ลดอาหารที่มีไขมัน (เช่น มันสัตว์, ของทอด, ของผัดน้ำมัน, อาหารใส่กะทิ) และจำกัดการกิน
น้ำตาล และของหวาน อย่าให้น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ปกติ
ส่วนเนื้อสัตว์ใหญ่ (เช่น หมู วัว ควาย แกะ) ควรกินไม่เกินวันละ 80 กรัม (3 ออนซ์) ควรเลือกกิน
ปลาและเนื้อสัตว์เล็กแทนสัตว์ใหญ่ ทางที่ดีควรกินสารโปรตีนจากถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จาก
ถั่วเหลือง (เช่น เต้าหู้ เนื้อเทียม) แทนเนื้อสัตว์
7. กินผัก (เช่น ผักใบเขียว ผักกะกล่ำ ดอกกะหล่ำ ผักคะน้า เป็นต้น), ผลไม้ (เช่น ฝรั่ง แอปเปิล
มะละกอ องุ่น ฟักทอง มะเขือเทศ ส้ม เป็นต้น, เมล็ดธัญพืช (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง งา
ลูกเดือย ถั่ว ต่าง ๆ เป็นต้น) หัวพืชต่าง ๆ (เช่น เผือก มัน แครอต หัวไช้เท้า เป็นต้น) และพวกกล้วย
ให้มาก ๆ ทุกวัน
อาหารเหล่านี้จะมีสารที่ช่วยป้องกันมะเร็ง เช่น กากใย, สารฟีนอล (phenol), สารฟลาโวน
(flavones)สารแคโรทีน (carotene) เป็นต้น
ผักและผลไม้ควรกินวันละ 400-800 กรัม (15-30 ออนซ์) หรือ 5 ส่วนหรือมากกว่า กินให้มากและ
หลากหลายตลอดทั้งปี (1 ส่วนเท่ากับผักสด 1 ถ้วยตวงขนาด 250 มล. หรือผักสุกครึ่งถ้วยตวง หรือ
ผลไม้ 1 ผล หรือผลไม้หั่นครึ่งถ้วยตวง) ส่วนเมล็ดธัญพืช หัวพืชต่าง ๆ และพวกกล้วย ควรกินวันละ
600-800 กรัม (20-30 ออนซ์) หรือ 7 ส่วนหรือมากกว่า พยายามกินอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการ
แปรรูป
8. ลดการกินอาหารของรมควัน ย่าง หรือของทอดจนเกรียม (เพราะมีสารก่อมะเร็ง)
9. จำกัดการกินเกลือและอาหารเค็ม ผู้ใหญ่กินเกลือวันละไม่เกิน 6 กรัม (7.5 มล.หรือหนึ่งช้อนชา
ครึ่ง) ส่วนเด็กวันละไม่เกิน 3 กรัมต่อ 1,000 กิโลแคลอรี
10. อย่าอยู่กลางแดดจัด ๆ เป็นเวลานาน ๆ

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
1. การคลำเต้านมในท่ายืน ใช้ฝ่ามือด้านตรงข้ามคลำตรวจเต้านมทีละข้าง สังเกตดูว่ามีก้อนอะไร
ดันอยู่ หรือสะดุดใต้ฝ่ามือหรือไม่ (มะเร็งของเต้านมมักจะพบที่ส่วนบนด้านนอกของเต้านมมาก
กว่าส่วนอื่น จึงควรสังเกตดูบริเวณนี้ให้ละเอียด)
2. และ 3. การดูเต้านมตรงหน้ากระจกเงา ในท่ามือเท้าเอว และท่าชูมือขึ้นเหนือศีรษะ สังเกตดู
ลักษณะเต้านมทั้ง 2 ข้างโดยละเอียด เปรียบเทียบดูขนาด รูปร่าง หัวนม และการเปลี่ยนแปลงของ
ผิวหนังทุกส่วนของเต้านม ( เช่น รอยนูนขึ้นผิดปกติ, รอยบุ๋ม, หัวนมบอด, ระดับของหัวนมไม่เท่า
กัน)
4. การคลำเต้านมในท่านอน ควรใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนตรงสะบัก ให้อกด้านที่ จะตรวจแอ่นขึ้น
ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ
5. (ในท่านอน) ใช้ฝ่ามือข้างซ้ายคลำเต้านมข้างขวาโดยคลำไปรอบๆ หัวนมเป็นรูปวงกลม ไล่จาก
ด้านนอกเข้ามายังหัวนม
6. แล้วใช้นิ้วบีบหัวนม สังเกตดูว่ามีน้ำเหลือง หรือเลือดออกจากหัวนมหรือไม่ ให้ทำการตรวจ
เต้านมข้างขวาโดยใช้มือซ้าย ทำซ้ำข้อ 4,5,6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น